วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินซื้อคริปโตฯ ขั้นต่ำ 5 พันบาท “เผาตลาด” เพื่อฆ่าหนูตัวเดียว..คุ้มหรือ?

Related Posts

ซื้อคริปโตฯ ขั้นต่ำ 5 พันบาท “เผาตลาด” เพื่อฆ่าหนูตัวเดียว..คุ้มหรือ?

“…ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศจะเริ่มเปิดกว้างการทำธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี ยกตัวอย่างใกล้บ้านเราอย่าง สปป.ลาว ธนาคารกลางได้ทุ่มเทเวลาและทรัพยากรมากมายในการกำกับดูแลและประกวดราคาทางกฎหมาย ทำงานร่วมกับชุมชนธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนจะได้รับการคุ้มครองและมีความมั่นใจในการใช้แพลตฟอร์มเทรดที่ได้รับอนุญาตในประเทศลาว ลาวกลายเป็นประเทศที่เปิดรับเทรนด์คริปโตฯ อย่างน่าสนใจ ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวก็อนุญาตให้บริษัท 6 แห่งทำการค้าและขุดเหรียญคริปโตฯ อีกด้วย ย้อนกลับมามองบ้านเรา เริ่มต้นดี มีทีท่าจะไปได้สวย แต่พอตลาดคริปโตฯ คึกคัก ก็มีคนออกมาโจมตีจนเกิดความสับสนวุ่นวายว่าเป็น “บ่อน” หรือ “แชร์ลูกโซ่” ก็ต้องหาทางจัดการแก้ไขกันไป แต่ไม่ใช่มุ่ง “ปิดกั้น” รายใดรายหนึ่ง จนธุรกิจเกิดความเสียหาย แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการฉีด “วัคซีนการลงทุน” ให้ความรู้กับนักลงทุน ซึ่งนอกจากจะเป็นเกราะป้องกันผู้ลงทุนแล้ว ยังเป็นส่งเสริมธุรกิจคริปโตฯ พัฒนาตลาดให้ก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคง กลับกลายเป็นการหมายมั่นฟาดฟันขยี้บางรายให้ตายไปจากตลาด…”

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวระบุว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซีขั้นต่ำ 5,000 บาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ระบุราคาซื้อขายขั้นต่ำ เพราะต้องการให้ช่องทางนี้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น มีลูกหลานน้อยลง งบประมาณเบี้ยยังชีพวัยชรารัฐบาลก็มีจำกัด จึงหวังว่าจะมีช่องทางการลงทุนออมเงินรูปแบบใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยไว้หล่อเลี้ยงชีวิตในบั้นปลาย แต่เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดราคาซื้อขายเริ่มต้น 5,000 บาทเทียบเท่าการลงทุนซื้อหุ้นเริ่มต้นในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแปรเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางการออมเงิน เปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยๆ อาจจะถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย และอาจกลายเป็นการ “เผาตลาด” เพื่อฆ่าหนูตัวเดียวหรือเปล่า

คริปโตเคอร์เรนซี เป็นสกุลเงินที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในยุคดิจิทัลหรือยุคแห่งอนาคต เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่ไม่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ “มูลค่า” จะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ยกตัวอย่างเช่นเหรียญบิตคอยน์ซึ่งได้กำหนดปริมาณการผลิตไว้ 21 ล้านเหรียญ ปัจจุบันถูกขุดขึ้นมาแล้วประมาณ 19 ล้านเหรียญ เหลืออีก 2 ล้านเหรียญซึ่งว่ากันว่าต้องใช้เวลาขุดอีกประมาณเกือบ 100 ปีจึงจะครบตามจำนวน ถึงแม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะมีการขุดเหรียญบิตคอยน์แล้ว 19 ล้านเหรียญ แต่ที่เหลืออีก 2 ล้านจะไม่ถูกสร้างขึ้นมาให้ขุด จนกว่าจะถึงปี 2140 หรือเกือบ 100 ปีข้างหน้า หากโปรโตคอลยังคงเหมือนเดิมในปัจจุบัน เท่ากับว่าเหรียญบิตคอยน์จะใช้เวลาอีกเกือบ 100 ปี จึงจะขุดครบตามจำนวนที่กำหนด ทำให้บิตคอยน์กลายเป็นสินทรัพย์มีมูลค่าสูงจากความต้องการจากเหรียญที่มีอยู่อย่างจำกัด และในอนาคตถ้าประชากรเพิ่มขึ้น เหรียญก็จะมีความต้องการมากขึ้น ตามหลักการของ “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” เปรียบเทียบคล้ายกับ “ทองคำ” ที่แม้เวลาจะผ่านมาหลายพันปี แต่ราคาทองก็ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะปริมาณแร่ทองคำมีอยู่อย่างจำกัด ต่างกับเงินในอดีตประเภทอื่นๆ เช่น ก้อนหิน เปลือกหอย มุก ทองแดง หรือ แร่เงิน ฯลฯ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกนำมาใช้เป็น “ตัวกลาง” ในการค้าขายแลกเปลี่ยน แต่เมื่อวัตถุดิบเหล่านี้ถูกค้นพบมากขึ้น มีปริมาณมากขึ้น มูลค่าก็ลดลงเรื่อยๆ และหมดมูลค่าไปในที่สุด แม้กระทั่ง “เงิน” ที่เราใช้ในปัจจุบัน เงินของบางประเทศก็เกิดภาวะเฟ้อจนแทบไร้มูลค่า

จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศจะเริ่มเปิดกว้างการทำธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี ยกตัวอย่างใกล้บ้านเราอย่าง สปป.ลาว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวว่า ธนาคารกลางลาวหรือ BOL ได้ออกใบอนุญาตให้เปิดแพลตฟอร์มเทรดคริปโตฯ กับบริษัท  2 แห่ง คือบริษัท Lao Digital Assets Exchange (LDX) บริษัทร่วมทุนระหว่าง AIF Group และ Phongsupthavy Group และบริษัท Bitqik บริษัทในเครือของ Simuong Group โดยผู้ว่าการธนาคารกลางลาว กล่าวว่า ธนาคารกลางได้ทุ่มเทเวลาและทรัพยากรมากมายในการกำกับดูแลและประกวดราคาทางกฎหมาย ทำงานร่วมกับชุมชนธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนจะได้รับการคุ้มครองและมีความมั่นใจในการใช้แพลตฟอร์มเทรดที่ได้รับอนุญาตในประเทศลาว ขณะที่ธนาคารกลางลาวจะทำงานร่วมกับทั้งสองบริษัทอย่างใกล้ชิด ติดตามการดำเนินการเพื่อปกป้องนักลงทุน และมีการบังคับใช้มาตรการเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ทำให้ลาวกลายเป็นประเทศที่เปิดรับเทรนด์คริปโตฯอย่างน่าสนใจ ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวก็อนุญาตให้บริษัท 6 แห่งทำการค้าและขุดเหรียญคริปโตฯอีกด้วย

ย้อนกลับมามองบ้านเรา เริ่มต้นดี มีทีท่าจะไปได้สวย แต่พอตลาดคริปโตฯคึกคัก ก็มีคนออกมาโจมตีจนเกิดความสับสนวุ่นวายว่าเป็น “บ่อน” หรือ “แชร์ลูกโซ่” สร้างกลไกจนบิดเบี้ยว แน่นอนว่าคริปโตฯเป็นธุรกิจใหม่ อาจมีช่องโหว่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ได้ แต่นั่นก็ต้องหาทางจัดการแก้ไขกันไป แต่ไม่ใช่มุ่ง “ปิดกั้น” รายใดรายหนึ่ง จนธุรกิจเกิดความเสียหาย แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการฉีด “วัคซีนการลงทุน” ให้ความรู้กับนักลงทุน ซึ่งนอกจากจะเป็นเกราะป้องกันผู้ลงทุนแล้ว ยังเป็นส่งเสริมธุรกิจคริปโตฯ พัฒนาตลาดให้ก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคง กลับกลายเป็นการหมายมั่นฟาดฟันขยี้บางรายให้ตายไปจากตลาด

การออกมาสะท้อนภัยเงียบของคริปโตฯด้วยความห่วงใยเยาวชนของนักวิชาการบางท่าน เป็นเรื่องที่ดีและควรต้องตระหนักให้หาทางป้องกัน เนื่องจากกฎหมายได้เปิดช่องให้เยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะสามารถเปิดบัญชีลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยมีการอนุมัติผ่านความเห็นชอบของผู้ปกครอง โดยทางหน่วยงานพิจารณากฎหมายให้เหตุผลว่า เพื่อส่งเสริมความรู้และปูแนวทางไปสู่การเรียนรู้ของเยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่วัยเกษียณ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้มองว่า เยาวชนจำนวนมาก นำเงินมาซื้อคริปโตฯโดยขาดความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ลงทุนเพราะเห็นคนอื่นทำแล้วดี ทำเพราะคำชักชวน ทำเพราะเป็นแฟชั่น ทำเพราะคิดว่าเท่ ทำตามคนดัง หรือ ทำเพราะเชื่อว่าในที่สุดจะได้กำไร จนเกิดความเสียหายกลายเป็นหนี้ เหตุผลสำคัญคือการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในด้านการลงทุนคริปโตฯ

ในเวลาเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการปรับปรุงการเปิดเผยความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และการกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลขั้นต่ำ 5,000 บาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย โดยจะเปิดรับฟังความเห็นถึง 17 ต.ค. นี้ เพราะมองว่าคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ยังไม่มีพื้นฐานรองรับ เป็นเพียงการเก็งกำไรและมีความผันผวนสูง ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี นายหน้าซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และผู้ค้าคริปโตเคอร์เรนซี จะต้องเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนเนื่องจากผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และมีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน มีความแตกต่างจากการลงทุนหรือใช้บริการกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทั่วไป พร้อมกับการแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน  การจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม (basic asset allocation) ให้ลูกค้าทราบก่อนใช้บริการด้วยข้อความว่า “คริปโตเคอร์เรนซีไม่ได้มีการกำกับดูแลการออกและเสนอขายตามกฎหมายของประเทศไทย และมีราคาผันผวนสูง โดยอาจไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ท่านอาจสูญเสียเงินของท่านทั้งจำนวน” โดยข้อความดังกล่าวจะต้องมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีความคมชัด และให้พิจารณาเลือกใช้โทนสีที่มีความแตกต่างจากสีพื้นหลังหรือใช้ตัวอักษรหนา

แนวทางของ ก.ล.ต. ต่อเรื่องนี้ ย่อมเป็นเรื่องที่สังคมเห็นด้วย หากจะทำให้วงการลงทุนคริปโตฯเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงและสง่างาม หากไม่ใช่เป็นการออกกฎมาเพื่อจัดการกับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง เพราะดูเหมือนว่ากฎระเบียบดังกล่าวกำหนดเพื่อใช้กับกลุ่มผู้ที่ซื้อขายขั้นต่ำไม่ถึง 5,000 บาท ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมาก ซึ่งในเรื่องการกำหนดราคาซื้อขายขั้นต่ำนี้ เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องการให้ช่องทางนี้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง จึงไม่ระบุราคาซื้อขายขั้นต่ำ และเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น มีลูกหลานน้อยลง งบประมาณเบี้ยยังชีพวัยชรารัฐบาลก็มีจำกัด เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดราคาซื้อขายเริ่มต้นเทียบเท่าตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแปรเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการลงทุนระยะยาว เป็นการงทุนในรูปแบบการออมเงิน เปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยๆอาจจะถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย

หาก ก.ล.ต. มองว่า การเปิดช่องให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากเข้ามาลงทุนมีความเสี่ยง ควรจะเรียกบริษัทที่เปิดขายสินทรัพย์ในรูปแบบดังกล่าวเข้ามาพูดคุยถึงเจตนาการซื้อขายในรูปแบบดังกล่าว หาวิธีกำกับเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต หรือ จับมือเดินสายให้ความรู้การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะสิ่งสำคัญนอกเหนือจากกฎระเบียบคือ “การสร้างภูมิคุ้มกัน”

การสร้างความเข้าใจเรื่องการลงทุนคือสิ่งสำคัญที่สุด หากนักงทุนไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะลงทุน 10 บาท 100 บาท หรือ 5,000 บาท มันก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะในที่สุดก็จะพยายามแสวงหาหนทางนำเงินมาลงทุนจนได้ เข้าตำรา “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” การให้ความรู้ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ การลงทุนประเภทอื่นๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การสร้างความตระหนักรู้” อาจต้องบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่ระดับมัธยม เพื่อให้เยาวชนมีวัคซีนการลงทุน มีความเข้าใจ มีความตระหนัก และลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเองมีเงินเก็บ หรือ ช่องทางการลงทุนยามเกษียณ มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นการ “เผาตลาด” เพื่อฆ่าหนูตัวเดียว..คุ้มหรือ?

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Latest Posts