วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงิน“คริปโตเคอร์เรนซี” ในมือ ก.ล.ต. อย่าบีบ (บางราย) ให้ตาย เพื่อให้ (บางราย) ไปรอด

Related Posts

“คริปโตเคอร์เรนซี” ในมือ ก.ล.ต. อย่าบีบ (บางราย) ให้ตาย เพื่อให้ (บางราย) ไปรอด

“…จากมุมมองของ รมว.กระทรวงการคลัง อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. รวมถึง เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนรูปแบบใหม่อย่างสินทรัพย์ดิจิทัล บนหลักการความสมดุลระหว่างการพัฒนาเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในบางประเด็น เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล นับเป็นความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนกฎเกณฑ์เดิม ภารกิจที่ ก.ล.ต. ต้องทำต่อไป คือ ต้องเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้ รวมถึงต้องสนับสนุนให้ผู้ลงทุนมีความรู้ทางด้านการเงินและการลงทุนเพื่อให้สามารถคุ้มครองตัวเองได้….”

สะท้อนอนาคตคริปโตเคอร์เรนซี ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในบางประเด็น เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน ไม่เอาเปรียบประชาชน รักษาสมดุลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ออกไปต่อสู้กับนานาชาติ หนุนผู้เล่นหน้าใหม่โดดลงมาร่วมวงในสนามแข่งขัน สร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน

อย่าให้ใครมองว่ากฎระเบียบของ ก.ล.ต. เอื้อประโยชน์ เปิดช่องว่าง บีบ (บางราย) ให้ตาย เพื่อให้ “บางราย” ไปรอด

การสะท้อนมุมมองของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านการกล่าวปาฐกถาพิเศษ “การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า” ในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 30 ปี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตตลาดทุนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในบางประเด็น เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกันจะต้องไม่เอาเปรียบประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต.ในการรักษาสมดุลให้ได้

การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล นับเป็นความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนกฎเกณฑ์เดิม หากวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ดีก็จะสามารถก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2546 – 2554) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีความท้าทายจากเศรษฐกิจดิจิทัล 3 ด้าน ประกอบด้วย

 1.ความพยายามของประเทศฝั่งตะวันออกที่จะเป็นอิสระจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

 2.จีนจะเข้ามามีบทบาทในการค้าโลก ซึ่งจะทำให้ไทยอาจต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับหยวนดิจิทัล และ

 3.การพัฒนาดิจิทัลเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะเข้ามามีบทบาทในการวางแผนและบริหารจัดการ รวมทั้งวางแผนรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการลงทุน

เช่นเดียวกับ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2554 – 2558) ที่กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีส่วนผลักดันในการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ภารกิจที่ ก.ล.ต. ต้องทำต่อไป คือ ต้องเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้ ฝากอนาคตได้ในทุกภาคส่วน เป็นหุ้นส่วน (visionary and strategic partners) ในการทำงานด้วยกันร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน รวมถึงต้องสนับสนุนให้ผู้ลงทุนมีความรู้ทางด้านการเงินและการลงทุนเพื่อให้สามารถคุ้มครองตัวเองได้ รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะที่ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน กล่าวปิดท้ายว่า “ภายใต้บริบท VUCA World Digital Disruption และโลกการเงินในอนาคต ก.ล.ต. จะนำมุมมองและข้อเสนอแนะ ประกอบกับแนวนโยบายที่ได้รับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในตลาดทุน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ไปเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความยั่งยืน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อประโยชน์ของทุกคน”

จากมุมมองของ รมว.กระทรวงการคลัง อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. รวมถึง เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนรูปแบบใหม่อย่างสินทรัพย์ดิจิทัล บนหลักการความสมดุลระหว่างการพัฒนาเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน และ ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนผู้ลงทุน ก.ล.ต. ต้องไม่ติดหล่มกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล จนทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในกลุ่มผู้ประกอบการ ในอนาคตจะมีฟินเทคที่เก่งกาจของไทยเข้ามาแข่งขันในตลาดคริปโคเคอร์เรนซีอีกจำนวนมาก หากพวกเขามองเห็นว่ากฎระเบียบที่มีอยู่จะช่วยสนับสนุนให้พวกเขาเติบโตได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ออกไปต่อสู้กับนานาชาติแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องให้กับผู้เล่นหน้าใหม่โดดลงมาร่วมวงในสนามแข่งขันนี้ ทำให้ตลาดคึกคักและเติบโตมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซียังอยู่ในระยะเริ่มต้น และผู้เล่นทั่วโลกต่างเข้าสู่สนามในเวลาใกล้เคียงกัน  นั่นหมายความว่าโอกาสที่บริษัทคนไทยหรือสตาร์ทอัพไทยจะโกอินเตอร์ออกไปแข่งขันในตลาดโลกและกลายเป็นผู้เล่นระดับแถวหน้าของโลกไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้คุมกฎระเบียบในการเอื้ออำนวยให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

แม้ปัจจุบันเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ยังไม่มีหลักประกัน โดยการเคลื่อนไหวของราคาจะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ในแต่ละช่วงเวลา แต่ก็ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมือนเป็นเงินสกุลหนึ่ง (Currency Token) สามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้จริงๆ ด้วยมาร์เก็ตแคปของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าของเศรษฐกิจไทยเกือบ 4 เท่า หากได้รับการพัฒนา ส่งเสริม อย่างถูกทิศ ถูกทาง สินทรัพย์ดิจิทัลน่าจะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้อย่างน่าจับตามอง

เมื่อ ก.ล.ต.  ยืนยันว่าจะสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมกับการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม ขณะที่ยังสามารถรักษาเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินโดยรวม ก็หวังว่าจะเห็นอนาคตคริปโตไทย ไม่สับสนเหมือนที่ผ่านมา แต่หากกฎเกณฑ์ยังมีความหละหลวม ลักลั่น นอกจากรายเก่าจะทำธุรกิจได้ยากแล้ว รายใหม่ก็ไม่กล้าเข้ามา กลายเป็นการบอนไซธุรกิจคริปโตเมืองไทยให้แคระแกร็น

คริปโตไทยจะไปไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ที่ยืนยันชัดเจนว่าจะส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกันจะต้องไม่เอาเปรียบประชาชนผู้ลงทุน ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง หากใครที่ไม่ใช่ตัวจริง หวังเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจนี้ ระบบต้องกำจัด “แกะดำ” ที่ไม่เล่นตามกฎออกไป

อย่าให้ใครมองว่ากฎระเบียบของ ก.ล.ต. เอื้อประโยชน์ เปิดช่องว่าง บีบ (บางราย) ให้ตาย เพื่อให้ “บางราย” ไปรอด..!!!

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts