“…แม้ว่า BTSC จะออกมาทวงหนี้หลายครั้งด้วยสารพัดวิธี แต่ดูเหมือนว่าโอกาสที่จะได้เงินคืนยังริบหรี่ คงไม่มีผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ารายใดในโลกที่อดทนให้บริการโดยไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 3 ปีแล้ว การให้บริการผู้โดยสารเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐ แล้วทำไมจึงปล่อยให้ภาคเอกชนที่รับจ้างทำหน้าที่แทนภาครัฐเคว้งคว้าง อย่างไร้อนาคตเช่นนี้ ?…”
1. ถึงเวลานี้ BTSC เป็นเจ้าหนี้เท่าไหร่ ?
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยังไม่ได้รับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลประมาณ 46,000 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) ในส่วนของค่าจ้างเดินรถนั้น BTSC ไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม BTSC ยังคงให้บริการเดินรถตลอดมาทุกวัน ไม่มีวันหยุด แม้ไม่ได้รับค่าจ้างก็ตาม
2. กทม. ในฐานะลูกหนี้แก้ปัญหานี้อย่างไร ?
ผู้ว่าฯ กทม. มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ขอให้รัฐบาลช่วยชำระค่างานโยธา (ที่รับโอนมาจาก รฟม.) และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลของส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต) รวมทั้งค่าจ้างเดินรถค้างจ่ายแทน กทม.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ กทม. ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถค้างจ่ายทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ถึงเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นเงิน 11,755 ล้านบาท แต่ กทม. ยังไม่ชำระ โดยได้อุทธรณ์มูลค่าหนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด
3. มหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแล กทม. ว่ายังไง ?
หลังจาก กทม. มีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ถึงผู้ว่าฯ กทม. ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอ ครม. ต่อไป
เหตุที่ มท. 1 ขอความเห็นจากผู้ว่าฯ กทม. ก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้ว่าฯ กทม. (ในขณะนั้น) ได้มีหนังสือถึง มท. 1 ขอความเห็นชอบให้ขยายสัมปทานให้ BTSC เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2572-2602 โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC แบกภาระหนี้สินทั้งหมดที่ กทม. มีอยู่กับ BTSC และ รฟม. พร้อมกับแบ่งรายได้ให้ กทม. ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้ง กำหนดให้ BTSC เก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท (สูงสุดไม่เกิน 65 บาท)
แต่หลังจากที่ มท. 1 ได้รับหนังสือตอบจากผู้ว่าฯ กทม. แล้ว มท.1 ยังไม่ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ ครม. พิจารณา ผมเห็นว่า มท.1 มีข้อมูลครบถ้วนพร้อมที่จะตัดสินใจได้แล้วว่าจะแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างไร จะชำระหนี้หรือขยายสัมปทานแทนหนี้ มีแค่ 2 ทางเลือกเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น ไม่มีประโยชน์ที่จะปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป ถ้าไม่ตัดสินใจในวันนี้ก็ต้องตัดสินใจในวันหน้า คนตัดสินใจในวันหน้าถ้าไม่ใช่ท่าน เขาก็จะตำหนิท่านได้ว่าปล่อยให้หนี้พอกหางหมู ไม่ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
4. นายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ?
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งให้แก้ปัญหาการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อให้เดินรถได้ต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เมื่อคณะกรรมการฯ ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ภาระหน้าที่จึงตกอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุนี้ ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จึงควรเร่งรัดการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย
อนึ่ง ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ก็เป็นผู้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 42/2559 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 ให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ แก้ปัญหาการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพื่อให้เดินรถได้ต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ซึ่งในที่สุด ได้มีการลงนามขยายสัมปทานให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปี 2560
ดังนั้น หากกระทรวงมหาดไทยเสนอแนวทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลน่าจะมีข้อมูลพร้อมที่จะตัดสินใจได้ว่าจะชำระหนี้หรือขยายสัมปทานแทนหนี้ให้ BTS
5. สรุป
ทั้งท่านนายกฯ และท่าน มท. 1 มีข้อมูลพร้อมแล้วที่จะตัดสินใจแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว การตัดสินใจเร็วเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การลังเลจะทำให้เอกชนไม่มั่นใจที่จะมาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐโดยเฉพาะเอกชนจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย และที่สำคัญ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ทั้ง 2 ท่าน จะต้องตัดสินใจ อย่าเมินหน้าหนีหนี้อีกเลยครับ