กสม. ชี้กรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้าและจับกุมผู้ต้องหาในคดีอายัดตัววันพ้นโทษจากเรือนจำ เป็นการละเมิดสิทธิฯ – ชงเสนอแก้ไขกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นตำรวจ ที่มีข้อกำหนดอันเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี – เผยกรณีสำนักงานทะเบียนระนองพิจารณาคำขอพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่นนานกว่า 7 ปี เป็นการดำเนินการล่าช้าเกินสมควร เตรียมตรวจสอบ
วันที่ 19 มกราคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 3/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
- กสม. ชี้กรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า และจับกุมผู้ต้องหาในคดีที่มีการอายัดตัววันพ้นโทษจากเรือนจำ เป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 จากผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า เป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวางมานานกว่า 19 ปี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ และในวันเดียวกันได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก จับกุมจากคดีที่มีการอายัด โดยผู้ร้องไม่เคยได้รับแจ้งว่ามีคดีอายัดจากสถานีตำรวจฯ ทั้งที่ได้เคยมีหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แล้ว ขณะที่เรือนจำฯ ก็มิได้ตรวจสอบเอกสารการอายัดและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ ผู้ร้องเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากเป็นการอายัดตัวค้างไว้และไม่มาดำเนินคดี ทำให้เสียสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 68 บัญญัติให้รัฐจัดให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาให้มีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม อีกทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (3) ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดมีสิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหา สิทธิที่จะมีเวลาและได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อต่อสู้คดี รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น ประกอบกับ สตช. มีคำสั่งที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 กำหนดแนวทางการสอบสวนคดี โดยให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นให้แล้วเสร็จ โดยไม่ต้องรอให้พ้นโทษในคดีเดิมก่อน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว
จากการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง ปรากฏว่า พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลหัวหมากได้มีหนังสือขออายัดตัวผู้ร้องไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 แต่ภายหลังการอายัด กลับไม่รีบสอบสวนดำเนินคดี เพื่อส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการโดยเร็ว จนกระทั่งผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 จึงมาจับกุมดำเนินคดีอีกครั้ง ซึ่งรวมเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี 10 เดือน นับจากวันที่พนักงานสอบสวนได้อายัดตัวผู้ร้องไว้ แม้ระหว่างการสอบสวนจะปรากฏว่าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีย้ายไปประจำ ณ ท้องที่อื่น ก็ไม่เป็นเหตุให้การอำนวยความยุติธรรมต้องสะดุดหยุดลง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการสอบสวนที่ล่าช้าเกินสมควร ไม่เป็นการอำนวยความยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับการดำเนินการของเรือนจำกลางบางขวาง กรณีไม่แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่ามีคดีอายัด เห็นว่า แม้การที่เรือนจำไม่แจ้งให้ผู้ต้องขังทราบว่ามีคดีอายัด จะเป็นการดำเนินการตามหนังสือสั่งการของกรมราชทัณฑ์ แต่เมื่อพิจารณาถึงปัญหาที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องในกรณีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ร้องไม่ได้รับแจ้งจากเรือนจำฯ ว่ามีคดีอายัด จึงไม่ได้ใช้สิทธิในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบให้ตนได้รับการสอบสวนในคดีที่ถูกอายัดอย่างรวดเร็วได้ การกระทำดังกล่าวของเรือนจำฯ จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน
ในเรื่องการแจ้งข้อมูลการอายัดตัวแก่ผู้ต้องขังนั้น ที่ผ่านมา กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะที่ 3/2565 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2565 ให้กรมราชทัณฑ์แจ้งให้ผู้ต้องขังทราบข้อมูลเกี่ยวกับการอายัดตัวในคดีอาญาอื่นในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ด้วยแล้ว แต่ยังคงมีกรณีที่ผู้ต้องขังไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการอายัดตัวในคดีอาญาอื่นของตนจนเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการอำนวยความยุติธรรมตามสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายปรากฏอยู่ กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ สตช. ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาของสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก เรือนจำกลางบางขวาง และกรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาของเรือนจำฯ พิจารณาดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ ดังนี้
(1 )ให้ สตช. ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 สอบสวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใช้รายงานผลการตรวจสอบนี้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการ นอกจากนี้ให้ สตช. และกรมราชทัณฑ์เร่งรัดการดำเนินการตามรายงานข้อเสนอแนะของ กสม. ที่ 3/2565 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2565 ซึ่งสำนักงานกสม. ได้เคยแจ้งผลตามข้อเสนอแนะดังกล่าวให้ทั้งสองหน่วยงานทราบแล้ว
(2) ให้เรือนจำกลางบางขวางแจ้งให้ผู้ต้องขังทราบข้อมูลเกี่ยวกับการอายัดตัวในโอกาสแรกที่กระทำได้ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถใช้สิทธิในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบหรือประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ให้ได้รับการสอบสวนในคดีที่ถูกอายัดได้อย่างรวดเร็ว