วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 3/2566 ในหัวข้อที่ 2

Related Posts

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 3/2566 ในหัวข้อที่ 2

วันที่ 19 มกราคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 3/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. เตรียมเสนอแก้ไขกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นตำรวจ ที่มีข้อกำหนดอันเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกฎที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการสมัครเพื่อคัดเลือกบรรจุเป็นนักเรียนตำรวจ นักเรียนนายร้อยตำรวจ นักเรียนเตรียมทหารในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นักเรียนนายสิบตำรวจ ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรและข้าราชการตำรวจชั้นประทวน มีการกำหนดคุณสมบัติบางประการตามบัญชีโรคหรืออาการที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ที่อาจเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ อันขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม เช่น กำหนดคุณสมบัติที่เกี่ยวเนื่องกับความพิการบางประการ ภาวะกะเทย (hermaphrodism) รวมถึงโรคเอดส์ นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้คณะกรรมการแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานแพทย์ใหญ่ สามารถใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าผู้ใดไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจได้

ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้สมัครเข้ารับราชการตำรวจเกี่ยวกับคุณสมบัติอันเป็นข้อห้ามในการเข้ารับราชการ และมีรายงานผลการตรวจสอบที่ 413/2562 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 วินิจฉัยประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีตามกฎ ก.ตร. ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้มีข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) สตช. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และโรงพยาบาลตำรวจ ปรับปรุงแก้ไขแนวทางการตีความคำว่า “โรคเอดส์” และการติดเชื้อเอชไอวีในกฎ ก.ตร. รวมถึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี และให้สอดคล้องกับแนวทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับบุคคล แต่ สตช. และ ครม. ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เกี่ยวเนื่องกับสมรรถภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคท้ายให้อำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม ของทหาร ตำรวจ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ได้

นอกจากนี้ ในปี 2563 โรงพยาบาลตำรวจได้ออกประกาศเรื่อง การกำหนดกรอบดุลยพินิจพิจารณาวินิจฉัยการตรวจร่างกายตามข้อ 14 ของบัญชีโรคหรืออาการที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ตามข้อ 2 (14) แนบท้าย กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 เพื่อแก้ไขลักษณะต้องห้ามในการเข้าสมัครเพื่อคัดเลือกบรรจุเป็นนักเรียนหรือเข้ารับราชการตำรวจเพิ่มเติม ที่มีการขยายความเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามบัญชีท้ายกฎ ก.ตร. เดิม และมีการเพิ่มเติม “ผู้ติดเชื้อเอชไอวี” ให้ถือเป็นโรคที่มีลักษณะต้องห้ามอีกด้วย

เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งสุขภาพ ตามที่กฎ ก.ตร. กำหนด กสม. ในคราวประชุมด้านคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 จึงมีมติให้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts