ส.ส.เพื่อไทยค้าน
ยกเลิกรักษาโควิดฟรี
ซัดผลักภาระซ้ำเติม ปชช.
ส.ส.เพื่อไทย ค้านรัฐยกเลิกสิทธิรักษาโควิดฟรีที่ รพ.เอกชน ชี้ผลักภาระกับซ้ำเติมประชาชน ส่วน สปสช. ยืนยันยังรักษาฟรีเหมือนเดิม ในกรณีผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม- คันนายาว พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส.จะยกเลิกโรคโควิดออกจากบริการUCEP หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่
นายพลภูมิ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบตามมาคือ ผู้ป่วยโควิดที่ประสงค์เข้ารับการรักษาฟรี จะเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ ได้แก่ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพ และสวัสดิการข้าราชการ แต่ถ้าเข้ารักษาโควิดกับโรงพยาบาลเอกชนที่ประชาชนไม่ได้มีสิทธิใด ๆ อยู่ จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายกับภาครัฐได้ และต้องจ่ายค่ารักษาเอง 100%
“ตรงนี้ถือเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนในช่วงที่สถานการณ์วิกฤตยังไม่ผ่านพ้นไป เพราะตัวเลขคนติดเชื้อยังพุ่งหลักหมื่นทุกวัน เตียงรักษาผู้ป่วยก็เต็ม การจะให้ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้านเหมือนเป็นการไม่สนใจทุกข์ร้อนของประชาชนปล่อยประชาชนให้ช่วยเหลือตัวเองแบบตามีตามเกิด เป็นการผลักภาระให้โรงพยาบาลของรัฐ เพราะสิทธิการรักษาส่วนใหญ่ของประชาชนล้วนอยู่กับโรงพยาบาลของรัฐแทบทั้งสิ้น” นายพลภูมิ กล่าว
ดังนั้น ส่วนตัวตนขอคัดค้านและเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผ้ำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ผอ.ศบค.) สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาอย่างรอบด้านอีกครั้ง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง คงสิทธิรักษาโควิดฟรีทุกที่ไว้ต่อไป เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนมีที่พึ่งแล้ว ยังเป็นการประคองไม่ให้ระบบสาธารณสุขของประเทศล่มสลาย จากคนไข้ล้นโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์และทรัพยากรจำกัด อย่าทำอะไรที่ซ้ำเติมประชาชนไปมากกว่านี้เลย”
ด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วันเดียวกัน นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงกรณ๊มีกระแสข่าวการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (UCEP) มาเป็นการรักษาตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ว่า การออกประกาศเป็นอำนาจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการปลดโควิดออกจากภาวะฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล แต่หากมีการประกาศออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รักษาแล้ว ดังนั้น การที่ใช้คำว่าหมดสิทธิรักษาฟรีจึงไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่ายังรักษาฟรีและรักษาฟรีทุกโรค ไม่เฉพาะแค่โควิด
น.พ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นนี้ ต้องทำความเข้าใจหลักการระบบสาธารณสุขของไทยก่อน คือ เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี เช่น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ และหากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน
ซึ่งกรณีของโควิดนั้น ตั้งแต่ปี 2563 กระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่าการีป่วยเป็นโรคโควิดถือเป็นเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากในช่วงแรกจนถึงช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา มีความกังวลว่าเมื่อป่วยแล้วเชื้อจะลงปอด ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี สายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้คือสายพันธุ์ โอมิครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านในระบบ โฮม ไอโซเลชัน ได้ หรือมีเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
ดังนั้น หากมีการประกาศให้โรคนี้ ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบปกติ เช่น หากใช้สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบโฮม ไอโซเลชัน สปสช.ก็ยังดูแลค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิม ดังนั้น ไม่ว่าจะประกาศว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบัตรทองรักษาทุกโรคอยู่แล้ว
น.พ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในกรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสุขภาพใดระบบสุขภาพหนึ่ง ในอดีตประชาชนสามารถไปได้เฉพาะในภาวะฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งเมื่อโรคโควิดถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ก็หมายความว่า ผู้ป่วยสามารถไปรักษาในโรงพยาบาลประเภทนี้ได้ แต่หากต่อจากนี้ไปโรคนี้ไม่ได้ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว ขอแนะนำให้ไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบของสิทธิสุขภาพตามระบบปกติ เพราะหากไม่มีอาการฉุกเฉินแล้วไปโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบ กองทุนสุขภาพต่าง ๆ จะไม่ได้เข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้
น.พ.จเด็จ กล่าวย้ำว่า การจะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้น ให้ดูอาการเป็นหลัก หากป่วยเป็นโควิด แล้วมีอาการฉุกเฉินด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบได้ด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตนั้น ทางกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้น ๆ จะตามไปดูแลได้
“โดยสรุปก็คือ ประชาชนหากป่วยด้วยโรคโควิด สามารถไปเข้ารักษาตามระบบสิทธิสุขภาพของตน ก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เหมือนเดิม แต่หากไปโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่มีอาการฉุกเฉิน ทางกองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าไปดูแลส่วนนั้น” น.พ.จเด็จ กล่าว