วันที่ 24 มี.ค. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี โดย นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีจับกุม บุคคลแอบอ้างตัวเป็นแพทย์ทำการรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไป 3 ราย ตรวจค้นคลินิก 3 จุด
วันที่ 21 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี นำหมายค้นของศาลจังหวัดชลบุรี เข้าตรวจค้นสถานพยาบาลในพื้นที่ จ.ชลบุรี จำนวน 3 จุด รายละเอียดดังนี้
1.คลินิกเสริมความงามบนห้างแหลมทอง ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ภายในห้างสรรพสินค้าแหลมทองบางแสน เลขที่ 278/2 ถนนลงหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี พบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการเสริมความงามแก่ประชาชนทั่วไป และพบ น.ส.ริญญาภัทร (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ทำการฉีดวิตามินบำรุงผิวเข้าเส้นเลือดให้กับผู้มารับบริการ เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้ง ผู้ทำการตรวจรักษา ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
โดย น.ส.ริญญาภัทร ฯ กล่าวอ้างว่าจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ไม่มีงานประจำเป็นหลักแหล่ง โดยรับจ้างทำหัตถการตามคลินิกต่างๆ (การใช้เข็มฉีด หรือใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์กับร่างกายตามแพทย์สั่ง) แล้วแต่จะมีผู้ใดจ้างไปทำงาน โดยก่อนถูกจับกุมได้เดินทางไปเที่ยวในพื้นที่ เขตพัทยา จ.ชลบุรี ในระหว่างนั้นต้องการหาค่าเดินทาง จึงเข้าไปหางานในกลุ่มหางานพยาบาล จากนั้นจึงสมัครและมาทำงานคลินิกดังกล่าวเป็นครั้งแรก โดยปกติจะรับงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยทำมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม น.ส.ริญญาภัทร ฯ พร้อมตรวจยึดยาแผนปัจจุบันที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง และยาแผนปัจจุบันที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 16 รายการ ตรวจยึดเวชระเบียนผู้มารับบริการ, วัสดุ อุปกรณ์ เป็นของกลาง ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
2.คลินิกเสริมความงาม ย่านบางแสน ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี พบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการเสริมความงามแก่ประชาชนทั่วไป และพบ น.ส.ฐาปณีย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี ทำการฉีดวิตามินบำรุงผิวเข้าเส้นเลือดให้กับผู้มารับบริการ เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้ง ผู้ทำการตรวจรักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไปนั้น ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
โดย น.ส.ฐาปณีย์ฯ รับว่า จบการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และไม่มีเคยมีประสบการณ์ หรือความรู้ทางการแพทย์มาก่อน โดยทำมาแล้วประมาณ 2 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม น.ส.ฐาปณีย์ ฯ และได้ตรวจยึดยาแผนปัจจุบันที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง และยาแผนปัจจุบันที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 70 รายการ ตรวจยึดเวชระเบียนผู้มารับบริการ, วัสดุ อุปกรณ์ เป็นของกลาง ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
3.คลินิกเวชกรรม พื้นที่ ต.บึง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากการตรวจสอบพบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดรักษาโรคทั่วไปให้กับประชาชน โดยขณะเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้น พบ นายอาทิตย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 45 ปี แสดงตัวเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจสอบ พบว่าสถานพยาบาลดังกล่าว มีใบประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบดำเนินการสถานพยาบาลถูกต้อง แต่แพทย์ที่ทำการรักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไปนั้นไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด
โดยนายอาทิตย์ฯ รับว่าเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และรับว่าคลินิกดังกล่าวมี ภรรยา เป็นผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ประกอบกับตนเองพอจะมีความรู้ด้านการรักษา ประกอบกันกับเนื่องจากค่าจ้างแพทย์แพง เพื่อประหยัดต้นทุนจึงทำการตรวจรักษาเอง เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุม นายอาทิตย์ฯ พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์ในการรักษา และยาแผนปัจจุบัน จำนวน 6 รายการ เป็นของกลาง ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
รวมตรวจค้นคลินิก 3 จุด แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหา 3 ราย ดังนี้
1.น.ส.ริญญาภัทร (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา
2.น.ส.ฐาปณีย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต,ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การภาคเสธ โดยรับว่าประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
3.นายอาทิตย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 45 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา
อนึ่ง การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1.พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
4.พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐาน “ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรค หรือเสริมความงาม ตามสถานพยาบาลต่างๆ ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น เพราะอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช้แพทย์ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนหากพบสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ต้องสงสัยว่าอาจอยู่ลักษณะหมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค