กสม. ชี้กรณีรถยนต์ของกลางได้รับความเสียหายและถูกนำไปใช้งานในระหว่างการเก็บรักษาของตำรวจ เป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน แนะ สตช. กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
- เสนอกรมราชทัณฑ์แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในการใช้ฮอร์โมนสำหรับผู้ต้องขังข้ามเพศ
วันที่ 7 เมษายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 14/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
- กสม. แนะกรมราชทัณฑ์แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในการใช้ฮอร์โมนสำหรับผู้ต้องขังข้ามเพศ ย้ำเป็นสิทธิด้านสุขภาพ
นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักกิจกรรมและเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อคนหลากหลายทางเพศ กรณีผู้ต้องขังข้ามเพศ (Transgender) ไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาวะทางเพศได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ผมร่วง น้ำหนักเพิ่ม อารมณ์แปรปรวน รูปร่างสรีระเปลี่ยน เป็นต้น โดยระบุว่า ข้อกำหนดของเรือนจำที่ให้ความสำคัญกับเพศกำเนิด ชาย-หญิง เท่านั้น ทำให้การใช้ฮอร์โมนและยาคุมกำเนิดของผู้ต้องขังข้ามเพศไม่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ประกอบกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของเรือนจำยังขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นความหลากหลายทางเพศจึงส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ต้องขังข้ามเพศในหลายมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย สภาพความเป็นอยู่ การพัฒนาตนเอง และด้านสุขภาพ รวมทั้งยังเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากความต้องการได้รับฮอร์โมนของผู้ต้องขังข้ามเพศอีกด้วย
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาการเข้าถึงฮอร์โมนของผู้ต้องขังข้ามเพศ อาจมีผลกระทบต่อสิทธิในสุขภาพของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีทั้งด้านจิตใจและร่างกาย โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 26 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะต้องมีความเสมอภาคกันในกฎหมายและการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างระหว่างเพศจะกระทำมิได้ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้รับรองความเสมอภาคของบุคคลที่จะมีสุขภาพที่ดีตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงมีมติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ให้จัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีดังกล่าวขึ้น โดยได้ศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานของรัฐและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นสรุปได้ดังนี้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำ ICCPR ตีความคำว่า “เพศ” ให้หมายรวมถึง รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และ อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) โดยเมื่อพิจารณาถ้อยคำในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง ก็เห็นว่า มิได้จำกัดความหมายในเชิงของเพศสรีระหรือเพศกำเนิดเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงเพศภาวะ (gender) และบทบาททางเพศ (sexual role) ด้วย เนื่องจากหากมีการตีความจำกัดแต่เพียงเพศสรีระ ทำให้การตีความปรับใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมที่จะต้องมีการแก้ไขบทบัญญัติให้ครอบคลุมทุกเพศอยู่เรื่อยไป ดังนั้น สิทธิและเสรีภาพของบุคคลโดยเสมอกันตามความหมายของรัฐธรรมนูญย่อมรวมไปถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) แตกต่างจากเพศสรีระด้วย
สำหรับการเข้าถึงฮอร์โมนของผู้ต้องขังข้ามเพศในประเทศไทยปัจจุบัน ปรากฏแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ซึ่งแบ่งกลุ่มผู้ต้องขังข้ามเพศที่ต้องการเข้าถึงฮอร์โมนระหว่างคุมขังออกเป็น 3 กรณี ดังนี้ (1) บุคคลที่ได้รับฮอร์โมนก่อนถูกคุมขังภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ สามารถได้รับฮอร์โมนต่อเนื่องแม้จะถูกคุมขังแล้ว เนื่องจากมีคำสั่งของแพทย์และรับรองให้นำเข้าไปใช้ได้ กรณีนี้จึงไม่มีปัญหาในการเข้าถึงฮอร์โมน แต่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ผู้ต้องขังต้องชำระเอง (2) บุคคลที่ใช้ฮอร์โมนเองโดยปราศจากการดูแลของแพทย์ เมื่อถูกจำคุก จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฮอร์โมน เนื่องจากผู้ต้องขังจะไม่สามารถนำสิ่งของอื่นนอกจากยาหรือเวชภัณฑ์ตามคำสั่งของแพทย์เข้ามาในเรือนจำได้ และ (3) บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งไม่เคยรับฮอร์โมนมาก่อน แต่ภายหลังประสงค์จะรับฮอร์โมนในเรือนจำ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฮอร์โมนเช่นเดียวกัน
เมื่อพิจารณาจากสภาพปัญหาในกรณีที่สองและกรณีที่สามแล้วจะเห็นว่า ผู้ต้องขังข้ามเพศจะไม่สามารถเข้าถึงการใช้ฮอร์โมนได้เช่นผู้ต้องขังกรณีแรก เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือความเห็นจากแพทย์ให้ใช้ฮอร์โมน ประกอบกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายในเรือนจำยังคงเป็นการปฏิบัติตามเพศกำเนิดหรือเพศตามที่เอกสารทางราชการได้ระบุสถานะไว้ ทำให้ผู้ต้องขังข้ามเพศบางรายไม่อาจเข้าถึงฮอร์โมนได้ กสม. จึงเห็นว่า กรมราชทัณฑ์ยังคงถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และแนวทางการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงการใช้ฮอร์โมน อันถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยเหตุผลเรื่องเพศด้วย จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไขโดยควรกำหนดให้ผู้ต้องขังข้ามเพศที่ไม่มีเอกสารรับรองการใช้ฮอร์โมนจากแพทย์ทั้งในกลุ่มที่ได้เคยใช้ฮอร์โมนเองก่อนการถูกคุมขังและกลุ่มที่ไม่เคยใช้ฮอร์โมนมาก่อน ให้ได้รับการตรวจรับรองและดูแลจากแพทย์ของเรือนจำหรือที่เรือนจำจัดหาเพื่อให้ผู้ต้องขังข้ามเพศได้รับฮอร์โมนในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายต่อไป ทั้งนี้ แม้ผู้ต้องขังข้ามเพศจะเป็นเพียงอัตราส่วนที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังอื่น แต่การเข้าถึงฮอร์โมนเพศถือเป็นการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (medical treatment) ที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของบุคคลข้ามเพศและเป็นสิทธิในสุขภาพประเภทหนึ่งที่รัฐพึงตระหนักเพื่อมิให้สถานะทางกฎหมายของเพศกำเนิดหรือมาตรการทางกฎหมายเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงฮอร์โมนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาวะทางเพศของผู้ต้องขังข้ามเพศไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
ให้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการจัดให้มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านฮอร์โมนและสูตินรีเวชศาสตร์ และจิตแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยการใช้ฮอร์โมนของผู้ต้องขังข้ามเพศในเรือนจำ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ฮอร์โมนเองก่อนถูกคุมขัง โดยให้กรมราชทัณฑ์กำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนแก่บุคลากรเพื่อดูแลด้านสุขภาวะของผู้ต้องขังข้ามเพศ รวมทั้งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขทบทวนและปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงฮอร์โมนโดยให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นอกจากนี้ ให้กรมราชทัณฑ์ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือแนวปฏิบัติอื่นใดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในการใช้ฮอร์โมนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาวะทางเพศของผู้ต้องขังข้ามเพศ เพื่อให้ผู้ต้องขังข้ามเพศสามารถใช้ฮอร์โมนได้อย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการทางการแพทย์ และอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่กรมราชทัณฑ์จัดหาให้ด้วย