วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมตำรวจไม่ “สอบสวนชันสูตรพลิกศพ”ปัญหาการสอบสวน “ที่ต้องปฏิรูป”“ปม” คดี“แอม ไซยาไนด์”

Related Posts

ตำรวจไม่ “สอบสวนชันสูตรพลิกศพ”ปัญหาการสอบสวน “ที่ต้องปฏิรูป”“ปม” คดี“แอม ไซยาไนด์”

“…ในฐานะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล มีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สามารถดูภาพรวมการสอบสวนของตำรวจได้ทั้งประเทศ สามารถกำหนดนโยบายให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งประเทศ อย่ามัวแต่มุ่งเรื่องงานสอบสวนคดีนี้เพียงคดีเดียว วันนี้ในสังคมไทยอาจจะมีคดีฆาตกรรมอำพรางลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นอีกจำนวนมากน้อยเพียงไร เพราะฆาตกรอย่าง ‘แอม ไซยาไนด์’ อาจจะรู้ดีว่า ‘ตำรวจไทย’ จะไม่ ‘สอบสวนชันสูตรพลิกศพ’ ให้พบเหตุการตายที่แท้จริง จึงกล้าลงมืออย่างนี้ ถึงเวลาหรือยังที่ต้องปฏิรูปการสอบสวนตำรวจไทย เพราะการสอบสวนชันสูตรพลิกศพ’ ให้พบเหตุการตายที่แท้จริง เป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรง … ทำอย่างนี้เท่านั้น จึงรู้เท่าทันฆาตกร อาชญากรประเภทนี้ได้…”

คดี น.ส.สรารัตน์ หรือ ‘แอม ไซยาไนด์’ วางยาไซยาไนด์ เหยื่อกว่าสิบราย เพื่อฆ่าชิงทรัพย์ คือบทเรียนที่โหดร้าย เจ็บปวด สร้างความหวาดผวาให้กับคนไทยในสังคมจำนวนไม่น้อย เพราะคดีลักษณะอย่างนี้ คดีฆาตกรรมอำพรางได้เกิดขึ้นจะมีอีกจำนวนมากน้อยเพียงไร อาจจะยังไม่เป็นข่าว หรือยังไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ตั้งข้อสงสัยผู้กระทำผิดได้ นอกเสียจากการชันสูตรพลิกศพจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

“แอม” เพิ่งมาถูกจับ และถูกสอบสวนภายหลังจากเหยื่อเสียชีวิตไปแล้วหลายราย การจับกุมนางสรารัตน์ หรือแอม เกิดขึ้นหลังจากที่ น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย อายุ 32 ปี ท้าวแชร์ ชาว จ.กาญจนบุรี เกิดวูบหมดสติเสียชีวิตเป็นปริศนาขณะเดินทางไปทำบุญปล่อยปลากับ “นางแอม” ที่ท่าน้ำแม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี แม้เบื้องต้น “นางแอม” จะไม่ยอมรับกับญาติ น.ส.ก้อยว่า อยู่กับ น.ส.ก้อยก่อนเสียชีวิต แต่สุดท้าย จนมุมด้วยหลักฐานจากกล้องวงจรปิดบริเวณท่าน้ำจุดเกิดเหตุ นอกจากนี้ตำรวจยังตรวจพบสารไซยาไนด์ที่รถของนางแอม บริเวณคอนโซลรถฝั่งคนขับ และเมื่อไปตรวจค้นบ้านพักนางแอม ก็พบสารไซยาไนด์เช่นกันขณะที่ “นางแอม” ซึ่งเป็นผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ แต่ตำรวจมั่นใจในพยานหลักฐาน
………………………………………………………………………..

หลังจากนั้น “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ก็มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนใน 5 พื้นเกิดเหตุ ทั้งกาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี อุดรธานี และราชบุรี เข้ามารายงานข้อมูลแล้ว แนวทางสืบสวนก็พบว่า มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย ที่ญาติสงสัยว่า เกี่ยวพันกับ “นางแอม” เพราะลักษณะการเสียชีวิตคล้ายกับ น.ส.ก้อย โดยผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2558 ซึ่งตำรวจสืบสวนก็จะต้องย้อนไปตรวจสอบเหตุตั้งแต่ปี 2558, 2559, 2560, 2561, 2562 ,2563 ไล่เรียงมาถึงปัจจุบัน
…………………………………………………………….
ความเหี้ยมโหดเกินมนุษย์ของ แอม ไซยาไนด์ ทำให้สื่อต่างประเทศหลายสำนักให้ความสนใจเกาะติดคดีสะเทือนขวัญช็อกโลกครั้งนี้ มีการวางแผนฆ่าคนด้วยการวางยาพิษอย่างเลือดเย็น เพื่อหวังทรัพย์สิน จนมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในไทย และเริ่มกังวลว่าอาจจะ มีเหยื่อฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่ตกสำรวจอีกหลายรายปรากฏขึ้นก็เป็นได้
เบื้องต้นตำรวจสรุปมีผู้เสียชีวิตเหยื่อไซยาไนด์ของ แอมเอาไว้ 16 รายเสียชีวิต 15 ราย รอดชีวิต 1 ราย โดยหนังสือรับรองการตายระบุสาเหตุการตายไว้หลากหลาย อาธิระบบหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว ระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว เส้นเลือดหัวใจตีบ เลือดเป็นกรด มะเร็งเม็ดเลือด บางรายญาติไม่ติดใจ จึงไม่มีการผ่าพิสูจน์
……………………………………………………….
จึงเกิดประเด็นเรื่องของช่องโหว่ของการชันสูตรศพ เพราะเมื่อมีคนตายพนักงานสอบสวนจะต้องทำ 2 กระบวนการ ก็คือหนึ่งชันสูตรที่เกิดเหตุ กับสองญาติติดใจ ขอให้ผ่าพิสูจน์ทีหลัง แต่ถ้าไม่มีเหตุ หมอจะผ่าดูทั่วไปเฉยๆ ไม่ไปถึงเรื่องพิษ ซึ่งในความจริงแล้วเมื่อตายผิดธรรมชาติควรจะต้องชันสูตรทั้งหมด ซึ่งต้องมีการแก้ไขว่า การตายธรรมชาติคือต้องนอนป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อผิดปกติจำต้องชันสูตรศพทุกศพ
……………………………………………………………………….
ทางด้าน พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันที่ไปพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และ พนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีแอมเผยว่า ตำรวจเชิญมาขอคำปรึกษาฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการชันสูตรศพ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะช่วยเหลือคดีได้มากแค่ไหน เพราะยังไม่เห็นผลการชันสูตรแต่ละศพของ แพทย์นิติเวช มองว่าการดูภาพถ่ายศพเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบคำถาม หรือชี้ชัดได้ว่าเสียชีวิตจากสารพิษไซยาไนด์หรือไม่ แต่ต้องผ่าพิสูจน์เพื่อดูสีเลือด เท่านั้น จึงระบุได้ชัดเจน เนื่องจากศพผู้เสียชีวิตจากสารไซยาไนด์เลือดจะสีเข้มกว่าปกติ หรือมีสีสดกว่าปกติ ส่วนศพผู้เสียชีวิตจากสารพิษสีเล็บและสีปากคล้ำกว่าปกติหรือไม่ ยืนยันว่าไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากมีองค์ประกอบเรื่องเวลาเสียชีวิต และสีผิวคนไทยค่อนข้างคล้ำจึงดูยาก

“ที่ผ่านมาไม่เคยมีประสบการณ์วินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตจากไซยาไนด์จากภาพถ่ายมาก่อน แต่เคยผ่าพิสูจน์ผู้เสียชีวิตจากสารไซยาไนด์ วันนี้ต้องการมาให้ความเห็นเรื่องภาพรวม และต้องการมีส่วนร่วมแก้ไขเรื่องการผ่าชันสูตรศพทั้งระบบ เมื่อมีผู้เสียชีวิตผิดปกติต้องผ่าชันสูตรศพทุกราย รวมถึงต้องเก็บรายละเอียดถ่ายภาพองค์ประกอบศพ สีเลือด และบันทึกภาพระหว่างชันสูตรเก็บไว้ทุกขั้นตอน เพื่อรองรับการตรวจค้นข้อมูลย้อนหลังกรณีมีคดีลักษณะนี้เกิดขึ้น หรือนำไปเทียบเคียงกับคดีอื่นที่มีปัญหา ส่วนเรื่องโซเดียมไทโอซัลเฟตหรือสารต้านไซยาไนด์ เชื่อว่าผู้ใช้งานต้องมีคนแนะนำ ในอดีตคนทั่วไปจะใช้สารพิษเหล่านี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากคุมเข้มทั้งการนำเข้าและใช้งาน แต่หลังจากซื้อขายผ่านออนไลน์ยอมรับว่าคุมยาก ขอเห็นพยานหลักฐานทั้งหมดก่อน”

“ไม่ขอตอบในรายละเอียดว่าสามารถชี้ชัดถึงสาเหตุการตายของทั้ง 14 ศพ ได้หรือไม่ เบื้องต้นยืนยันว่าทุกศพมีลักษณะ คล้ายกันคือตายกะทันหัน ตายไม่คาดคิดและส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิง” พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว
…………………………………………………………………………..

ในขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ กล่าวว่า ปัญหาที่ควรตั้งคำถามก็คือ มันเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร?
เพราะหาก ระบบงานสอบสวนของตำรวจแห่งชาติ มีประสิทธิภาพตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ชอบคุยโม้กันไว้ ความตายแต่ละรายของคนวัยหนุ่มสาว ไม่ได้แก่ชราหรือป่วยตายในโรงพยาบาลภายใต้การรักษาของแพทย์เหตุใดจึงไม่มี “พนักงานสอบสวน” และ “หัวหน้าพนักงานสอบสวนสถานี” หรือจังหวัดใดใน 14 สถานีทั่วไทย สงสัยกันบ้างเลยว่า น่าจะเป็นการตายผิดธรรมชาติ อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 148 บัญญัติไว้ และเมื่อไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย หรือตายโดยอุบัติเหตุ
แต่เป็น การตายผิดธรรมชาติที่ยังมิปรากฏเหตุ คือ ไม่รู้ชัดว่าตายเพราะอะไร? ก็มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์นิติเวชเพื่อให้พบ เหตุของการตายหากแพทย์พลิกศพไปมา ตรวจหาบาดแผลร่องรอยทั่วร่างกายแล้ว ยังไม่สามารถสรุปเหตุการตายที่แน่ชัดได้พนักงานสอบสวน ก็ มีอำนาจสั่ง ให้แพทย์ผ่าศพและแยกธาตุวินิจฉัยตามที่มาตรา 151 บัญญัติไว้ได้นำรายงานไปประกอบความเห็นที่ตนต้องทำเป็นหนังสือ แสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน และเมื่อใดถ้าตายโดยคนทำร้าย ก็ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้ บัญญัติไว้ในมาตรา 154

ปัญหาในคดีแอมก็คือ ความตายของบุคคลแต่ละรายตั้งแต่ 1-14 ได้มีการสอบสวนชันสูตรพลิกศพอย่างครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่?ถ้าใครบอกว่า ได้ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นย่อมหมายถึงต้องสรุปรายงานว่า ไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดอาญา แต่อย่างใด จึงไม่ได้เริ่มสอบสวนเป็นคดีฆ่า หรือว่าประมาททำให้ตาย สืบสอบหาตัวผู้กระทำผิดคนใดและได้ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพนั้นให้ข้าหลวงประจำจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันไปแล้วตามมาตรา 156 แต่ ถ้าไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพไว้! โดยอ้างว่า ญาติ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ภรรยา สามี หรือพี่น้องคนใดไม่สงสัยว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติรวมทั้ง “พนักงานสอบสวน” และ “หัวหน้าพนักงานสอบสวน” ไม่ว่าชั้นยศใด ท้องที่สถานีหรือจังหวัดใด ก็ไม่มีใครสงสัยเหตุการตายทั้งสิบสี่รายแต่อย่างใด?

ทุกคนเห็นว่า การตายด้วยอาการหัวใจวายหรือเลือดไม่ไหลเวียนของคนหนุ่มสาวเหล่านี้เป็น “การตายตามธรรมชาติ” อย่างแน่นอน แพทย์ออกหนังสือรับรองการตายให้ญาตินำไปแจ้งฝ่ายปกครองทราบ และนำศพไปเผาหรือฝังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของแต่ละคนไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น เวลานี้ที่มีการสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มแก่แอมว่า ได้กระทำความผิดทางอาญาข้อหาฆ่าในรายที่ผ่านมาอีกกว่าสิบศพนั้น ใช้พยานหลักฐานอะไร? เป็นการปฏิบัติที่ขัดแย้งต่อรายงานการชันสูตรพลิกศพ ที่สรุปว่าไม่พบการกระทำผิดอาญาใดๆ หรือไม่?
และ ที่สำคัญ การสอบสวนจะนำไปสู่การส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดให้ลงโทษตามกฎหมายได้จริงหรือ?

เนื่องจาก ป.วิ อาญา มาตรา 129 บัญญัติไว้ว่า “ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา…….. ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล” “อัยการไทย” จะสามารถฟ้องคดีโดยที่ “การชันสูตรพลิกศพไม่เสร็จสิ้น” หรือแม้แต่ “ไม่มีการสอบสวนชันสูตรพลิกศพ” ในกรณีที่เป็นการตายผิดธรรมชาติตามกฎหมายได้ด้วยหรือ?
……………………………………………………………………..
และนี่เองคือปมปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว กับการสอบสวนของตำรวจ ในเรื่องการชันสูตรศพ
………………………………………………………………………………………..
แม้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะยืนยันว่า มั่นใจในพยานหลักฐานทุกอย่างที่เชื่อมโยงกัน คดีนี้ถือเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญค้นหาข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง หลักฐานที่ตำรวจรวบรวมมาได้มั่นใจได้ว่าไม่มีความกังวลต่อรูปคดี เนื่องจากข้อมูลที่ตำรวจมีเป็นคนละชุดกับข้อมูลที่สื่อมวลชนมีอยู่ มั่นใจว่าเอาผิดผู้ก่อเหตุได้แน่นอน

แต่การที่ตำรวจไม่ ‘สอบสวนชันสูตรพลิกศพ’ ให้พบเหตุการตายที่แท้จริง!แล้วจะมาสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มแก่แอมว่า ได้ ‘วางยาฆ่า’ รายที่ผ่านมาอีกกว่าสิบศพนั้น ใช้พยานหลักฐานอะไร? จะเป็นการปฏิบัติที่ขัดแย้งต่อรายงานการชันสูตรพลิกศพที่สรุปว่าไม่พบการกระทำผิดอาญาใดๆ หรือไม่? และที่สำคัญ การสอบสวนจะนำไปสู่การส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดให้ลงโทษตามกฎหมายได้จริงหรือ?

เนื่องจาก ป.วิ อาญา มาตรา 129 บัญญัติไว้ว่า “ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา………ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล” “อัยการไทย” จะสามารถฟ้องคดีโดยที่ “การชันสูตรพลิกศพไม่เสร็จสิ้น” หรือแม้แต่ “ไม่มีการสอบสวนชันสูตรพลิกศพ” กรณีที่เป็นการตายผิดธรรมชาติตามกฎหมายได้ด้วยหรือ?
…………………………………………………………………
ในฐานะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล มีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สามารถดูภาพรวมการสอบสวนของตำรวจได้ทั้งประเทศ สามารถกำหนดนโยบายให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งประเทศ อย่ามัวแต่มุ่งเรื่องงานสอบสวนคดีนี้เพียงคดีเดียว วันนี้ในสังคมไทยอาจจะมีคดีฆาตกรรมอำพรางลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นอีกจำนวนมากน้อยเพียงไร เพราะฆาตกรอย่าง ‘แอม ไซยาไนด์’ อาจจะรู้ดีว่า ‘ตำรวจไทย’ จะไม่ ‘สอบสวนชันสูตรพลิกศพ’ ให้พบเหตุการตายที่แท้จริง จึงกล้าลงมืออย่างนี้ ถึงเวลาหรือยังที่ต้องปฏิรูปการสอบสวนตำรวจไทย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts