เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 31 พ.ค.66 ที่ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้นัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวชุมชนรัชดา 64-66 ยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนรายงาน EIA โครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง ของ บมจ. ศุภาลัย (SPALI) ที่เข้ามาก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง และมีความยาวมากกว่า 303.5 เมตร ทำให้บังแดด-บังลมของชาวบ้านข้างเคียง และศาลได้เรียกเจ้าของโครงการดังกล่าวเข้ามาในคดีด้วย
คดีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อ 26 ธ.ค.65 ให้การคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้แก่ชาวบ้านย่านรัชดาภิเษก ซอย 64-66 ชุมชนประชานุกูล เขตบางซื่อ ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อันเนื่องมาจากการก่อสร้างโครงการจะทำให้บังแดด-บังลมของชาวบ้านข้างเคียง โดยศาลฯ ชี้ว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เร่งรีบให้ความเห็นชอบรายงานอีไอเอ (EIA) ไป ทั้งที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์และเป็นนิมิตใหม่ของศาลปกครอง ที่ให้ความสำคัญต่อการก่อสร้างตึกสูงที่มักบังแดด-บังลม ที่จะทำให้ชาวบ้านจะต้องทนทุกข์ทรมานกันชั่วกัลปาวสาน
กระทั่งมาวันนี้ศาลได้มีคำพิพากษา ให้เพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง ของบมจ. ศุภาลัย SPALI แล้ว เนื่องจาก คชก.กทม.ใช้อำนาจขยายระยะเวลาของการให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ของบมจ. ศุภาลัยออกไปเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ อีกทั้งเนื้อหาในการจัดทำรายงานฯไม่เป็นไปตามหลักวิชาการและข้อเท็จจริงโดยเฉพาะปัญหาการบังทิศทางลมและแสงแดดที่จะมีผลกระทบต่อบ้านเรือนข้างเคียงที่ไม่อาจแก้ไขได้
คำพิพากษาในคดีนี้เป็นเรื่องใหม่และสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวกรุงเทพและปริมณฑลที่ถูกผู้ประกอบการเรียลเอสเตทจำนวนมากเข้ามาก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ชุมชนหรือบ้านข้างเคียง ทำให้ชาวบ้านที่เคยมีวิถีชีวิตที่ปกติสุข ต้องมาเดือดร้อนจากปัญหาอาคารบังลม-บังแดด ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป โดยที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ ไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ เมื่อขายโครงการหมดแล้ว รับผลประโยชน์ไปหมดแล้วก็ทิ้งภาระไว้ให้กับนิติบุคคลที่จะเกิดขึ้นมารับช่วงปัญหาต่อไป
ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ชุมชน คือ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) นั่นเอง ซึ่งมักเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นหลัก ทั้งๆที่มีอำนาจที่จะไม่เห็นชอบโครงการอาคารสูงใด ๆ ที่มีชาวบ้านคัดค้านเพื่อยุติปัญหาเสียตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่ทำ ดังนั้น เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของ คชก.กทม. สมาคมฯจะนำคำพิพากษาไปเป็นหลักฐานยื่นร้องให้ ป.ป.ช.ทำการไต่สวน สอบสวนเอาผิด คชก.กทม.ที่ยกมือเห็นชอบโครงการฯดังกล่าวต่อไป