สระแก้ว – จังหวัดสระแก้ว รับตัวแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ตามข้อตกลง MOU ครั้งที่ 4 กว่า 200 คน โดยปรับมาตรการเข้มงวด นำรถโมบายตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยมาร่วมในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และตรวจสอบมากขึ้น หลังพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานลักษณะดังกล่าวก่อนหน้านี้จำนวนมาก หากผลตรวจ ATK พบติดเชื้อจะผลักดันกลับไปก่อน และไม่นำเข้าสู่ขั้นตอนการข้ามแดนทันที
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงาน เจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน จ.สระแก้ว ,เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.สระแก้ว ,เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสระแก้วและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันรับตัวแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ที่จะเข้ามาทำงานกับผู้ประกอบการในประเทศไทย ตามข้อตกลง MOU ครั้งที่ 4 ณ ด่านถาวรบ้านคลองลึก ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตั้งแต่เมื่อช่วงสายวานนี้ โดยมีทางเจ้าหน้าที่กัมพูชาเป็นผู้นำแรงงานกลุ่มดังกล่าวมาส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา อ.อรัญประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับแรงงานชาวกัมพูชาเหล่านี้จะเข้ามาทำงานที่บริษัทเอกชน 3 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน) ประเภทกิจการ ต่อเนื่องการเกษตร ตั้งอยู่ที่เลขที่ 333,333/1-2 ม.9 ถ.สีคิ้ว-เดชอุดม ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา จำนวน 144 คน เป็นชาย 81 คน ,หญิง 63 คน ,บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน) ตั้งอยู่ที่ 150 ม.7 ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรีจำนวน 60 คน เป็นชาย 32 คน ,หญิง 28 คน และบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน) ตั้งอยู่ที่เลขที่ 20/2 ม.3 ถ.สุวินทวงศ์ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คน เป็นชาย 17 คน , หญิง 6 คน รวมแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางเข้าทำงาน จำนวน 227 คน เป็นชาย 130 คน และหญิง 97 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การนำเข้าแรงงานแบบ MOU ครั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้เข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารและการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำแรงงานชาวกัมพูชาเข้าสู่กระบวนการข้ามแดนมายังฝั่งประเทศไทย หลังจากนั้นฝั่งไทยจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจเอกสารตามขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ตรวจกระเป๋าสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ได้นำแรงงานไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยรถโมบายตรวจหาเชื้่อชีวนิรภัยด้วย เนื่องจากการนำเข้าแรงงานดังกล่าวล๊อตก่อนหน้านี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากกว่า 30 ราย
อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จขั้นตอนต่าง ๆ ได้นำแรงงานชาวกัมพูชาที่ผ่านการตรวจแล้ว จำนวน 149 คน ไปกักตัวที่ศูนย์ Organization Quarantine(OQ) วิไล เรสซิเดนซ์ รุ่งเจริญ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 251/41, 251/42 ม.10 ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งมีบริษัท นวศรีการแพทย์ จำกัดเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีค่าใช้จ่ายในการกักตัว 7 วัน จำนวน 5,500-6,000 บาท/คน , ส่วนแรงงาน จำนวน 59 คน ถูกไปกักตัวที่ (OQ)บริษัทบุญส่งเพิ่มพูนทรัพย์ แอนด์ แคร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 270 ม.1 ต.บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีค่าใช้จ่ายในการกักตัว 7 วัน จำนวน 9,000-9,500 บาท และแรงงานกัมพูชาอีก จำนวน 19 คน ถูกนำไปกักตัวที่ (OQ)บริษัทอภิลดา เพิ่มทรัพย์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 661 ม.1 ต.บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีค่าใช้จ่ายในการกักตัว 7 วัน จำนวน 9,000 บาท/คน
ทางด้าน นาย วีรเดช พลสวัสดิ์ จัดหางานจังหวัดมุกดาหาร รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาการนำเข้าแรงงานกัมพูชาตามข้อตกลง MOU ครั้งที่ 4 นี้ ภายหลังเกิดปัญหาพบชาวกัมพูชาที่เข้ามาติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในรอบที่ผ่านมา นายปริญญาโพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และนพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการป้องกันการนำเชื้อเข้ามาในประเทศ โดยนำรถโมบายฯ ไปตรวจหาเชื้อด้วยระบบ ATK กับแรงงานกัมพูชาทุกคนก่อนเดินทางเข้าสู่ขั้นตอนที่ 1 หากพบเชื้อจะมีการผลักดันออกไปก่อน ซึ่งจากการตรวจแรงงานกัมพูชาเมื่อวานนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด ประมาณ 8 ราย ซึ่งได้ผลักดันให้กลับไปรักษาก่อนเดินทางเข้าประเทศ ทั้งนี้ จะได้หารือเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการลักษณะนี้ต่อไปในทุกรอบหลังจากนี้ หากพบเชื้อจะไม่นำเข้าสู่กระบวนการทันที เพื่อไม่ให้มีการตรวจพบเชื้อภายหลังเข้าประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งตัวเลขแรงงานกัมพูชาที่ผู้เดินทางเข้ามาตามระบบ MOU เมื่อวานนี้มีกว่า 200 คน ได้นำเข้าสู่กระบวนการกักตัวใน OQ จำนวน 3 แห่ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว.