วันอาทิตย์, กันยายน 22, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่กสม. ประชุมขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนร่วมกับกลุ่มประเทศมุสลิมสมาชิก OIC หนุนรัฐบาลไทยพัฒนากลไกเชิงกฎหมายกำกับการประกอบกิจการที่เคารพสิทธิฯ รองรับการปรับตัวของตลาดโลก

Related Posts

กสม. ประชุมขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนร่วมกับกลุ่มประเทศมุสลิมสมาชิก OIC หนุนรัฐบาลไทยพัฒนากลไกเชิงกฎหมายกำกับการประกอบกิจการที่เคารพสิทธิฯ รองรับการปรับตัวของตลาดโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 – 25 พฤษภาคม 2566 ตนในฐานะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เข้าร่วมการประชุมสามัญครั้งที่ 21 ของคณะกรรมาธิการอิสระถาวรด้านสิทธิมนุษยชน (Independent Permanent Human Rights Commission – IPHRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสิทธิมนุษยชนในโลกมุสลิม ภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation – OIC) ณ สำนักงานใหญ่ IPHRC เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

การประชุมครั้งนี้เป็นการรายงานสถานการณ์และการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศมุสลิมสมาชิก OIC จำนวน 57 ประเทศ โดย กสม. ไทยได้รับเชิญในฐานะประเทศที่มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของ OIC ซึ่งมีเพียง 3 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย สหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ในการนี้ ที่ประชุมได้หารือร่วมกันในหัวข้อ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: Normative Framework and Implementation Guideline for OIC Countries” และได้รับหลักการสำคัญเบื้องต้นร่วมกัน ได้แก่ (1) หลักการและจริยธรรมของชะรีอะฮ์อิสลาม (หลักกฎหมายอิสลาม) รวมถึงความรับผิดชอบและความไว้วางใจที่ย้ำเน้นถึงมาตรฐานทางศีลธรรม คุณค่า และบรรทัดฐานทางพฤติกรรมครอบคลุมทุกมิติของชีวิต รวมถึงทางธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการอิสลามและคุณค่าในการปกป้องสิทธิมนุษยชน อันเป็นไปตามแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ ระเบียบและกฎหมายของบรรดาประเทศสมาชิก

(2) แนวคิดสิทธิมนุษยชนเป็นแกนกลางของชะรีอะฮ์อิสลาม ซึ่งมุสลิมทั้งแง่ปัจเจกชน และองค์กรต้องร่วมกันปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน (3) บทบาทของบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจเอกชนได้เข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศสมาชิกเป็นอย่างมากและอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปในระดับโลกทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแนวทางป้องกันปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากการประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิฯ โดยรัฐของประเทศสมาชิกต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGPs) โดยต้องพัฒนากฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้สาธารณะรับทราบเพื่อให้เข้าถึงการเยียวยาเมื่อได้รับผลกระทบด้วย

(4) ภาคธุรกิจเอกชนมีความรับผิดชอบที่จะต้องเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในทุกกระบวนการของธุรกิจ โดยคำนึงถึงมิติด้านสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่มที่มีส่วนได้เสีย ทั้งสิทธิผู้ใช้แรงงาน สิทธิสิ่งแวดล้อม และสิทธิในสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม และปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและในประเทศ โดยต้องจัดให้มีกลไกการร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย และ (5) ประเทศสมาชิกจะประณามนโยบายและการทำธุรกิจที่ไร้จริยธรรมที่สนับสนุนการยึดครองดินแดนผู้อื่น รวมทั้งการทำธุรกิจที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงได้เรียกร้องให้สหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ สำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนโลกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตลอดจนใช้กลไกของสหประชาชาติทั้งกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR) และกลไกตามอนุสัญญาต่าง ๆ ในการประเมินและสนับสนุนให้ประเทศสมาชิก นำมาตรฐานสิทธิมนุษยชนมาเป็นเครื่องมือกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจในประเทศต่าง ๆ อย่างเคารพสิทธิมนุษยชนรอบด้านโดยเฉพาะในพื้นที่ขัดแย้ง รวมทั้งหยุดกิจกรรมธุรกิจที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมยังเรียกร้องให้ ประเทศสมาชิก OIC เร่งลงนามในกติการะหว่างประเทศต่าง ๆ กฎบัตรของ OIC เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ตลอดจนหลักการ UNGPs เพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุนทางการเมืองในการออกกฎหมาย นโยบาย หรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายและเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการประกอบธุรกิจ และรับประกันความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

“การประชุมครั้งนี้นับเป็นการปรับตัวของสมาชิกกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มประเทศสมาชิก OIC ซึ่งมีประชากรเกือบ 2,000 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มประเทศตลาดใหญ่สำหรับการส่งออกของประเทศไทย เช่น สินค้าอาหารฮาลาล ซึ่งตลาดนี้อยู่ระหว่างการปรับทิศทางการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยเหตุนี้ การประกอบธุรกิจของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังโดยยึดหลักการเคารพ ป้องกัน และการเยียวยา เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน ดังนั้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งรัดสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว และพัฒนากลไกเชิงโครงสร้าง เช่น การออกระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นหลักประกันสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts