น่าดีใจที่พรุ่งนี้ (3 มิ.ย. 66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีเป็นเวลา 1 เดือน หลายคนสงสัยว่าทำไมรถไฟฟ้าสายสีเหลืองต้องเป็นโมโนเรล ?
1. ทำไมต้องเป็นโมโนเรล ?
โมโนเรล (Monorail) คือรถไฟฟ้า แต่เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งคร่อมรางโดยใช้รางเดี่ยว หรืออาจจะแขวนห้อยอยู่ใต้รางก็ได้ แต่ที่นิยมใช้กันมากก็คือแบบคร่อมราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้กำหนดว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นทางใด ควรใช้รถไฟฟ้าประเภทไหน โดยพิจารณาจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร หากเส้นทางใดคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาก สนข. ก็จะใช้รถไฟฟ้าขนาดหนัก ซึ่งมีความจุมากกว่า ดังเช่น รถไฟฟ้า BTS หรือ รถไฟฟ้า MRT เป็นต้น สำหรับสายสีเหลือง สนข. คาดว่าจะมีผู้โดยสารไม่มากจึงเลือกใช้โมโนเรล ซึ่งมีความจุน้อยกว่า หากเลือกใช้รถไฟฟ้าขนาดหนักก็จะเป็นการลงทุนเกินความจำเป็น สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ โดยทั่วไปวงเงินลงทุนโมโนเรลจะถูกกว่ารถไฟฟ้าขนาดหนักประมาณ 40%
2. ถึงวันนี้รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีกี่ประเภท ?
มี 3 ประเภท ได้แก่
(1) รถไฟฟ้าขนาดหนัก มี 5 สาย ประกอบด้วย สายสีเขียว สีน้ำเงิน แอร์พอร์ตลิงก์ สีม่วง และสีแดง
(2) รถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) มี 1 สาย คือ สายสีทอง APM เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีตโดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลางระหว่างล้อซ้ายขวาเพื่อช่วยนำทาง เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก APM เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มาก โดยเฉพาะในสนามบินเพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินไปมาระหว่างเทอร์มินัลกับเทอร์มินัล หรือระหว่างเทอร์มินัลกับอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารรอขึ้นเครื่องบิน) ดังเช่นที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างเทอร์มินัล 1 กับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1
(3) โมโนเรล มี 2 สาย ประกอบด้วยสายสีเหลือง และสายสีชมพู (ยังไม่เปิดให้บริการ) เป็นรถไฟฟ้าไม่ใช้คนขับเช่นเดียวกับ APM ใช้ล้อยางวิ่งบนรางคอนกรีต (หรือรางเหล็ก) เพียงรางเดียว เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก โมโนเรลเป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มากเช่นเดียวกัน แต่มักนิยมใช้ขนผู้โดยสารไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าขนาดหนักที่สามารถขนผู้โดยสารได้มากกว่า พูดได้ว่าใช้โมโนเรลสำหรับรถไฟฟ้าสายรองเพื่อขนผู้โดยสารไปป้อนให้รถไฟฟ้าสายหลัก ดังเช่นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองซึ่งเป็นโมโนเรลที่ขนผู้โดยสารริมถนนลาดพร้าวไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ที่สถานีลาดพร้าว
3. ใครเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ?
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล โดยชนะ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เนื่องจาก BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. (เงินสนับสนุนจาก รฟม. ลบด้วย เงินตอบแทนให้ รฟม.) โดย BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 22,087.06 ล้านบาท ในขณะที่ BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 157,721.81 ล้านบาท หรือ BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. ต่ำกว่า BEM มากถึง 135,634.75 ล้านบาท BTSC จึงคว้าชัยชนะไป โดย BTSC ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการเดินรถเป็นเวลา 30 ปี
4. ถ้าโมโนเรลเสีย ผู้โดยสารต้องทำอย่างไร ?
ในกรณีฉุกเฉิน ผู้โดยสารจะต้องลงจากโมโนเรลไปที่ทางเดินระหว่างรางทั้งสอง (รางขาไปและขากลับ) ทางเดินเป็นตะแกรงเหล็กกัลวาไนซ์เพื่อให้ผู้โดยสารเดินไปสู่สถานีที่ใกล้ที่สุด ความสูงจากพื้นโมโนเรลถึงทางเดินเกือบ 2 เมตร ดังนั้น จะต้องลงทางบันไดที่พาดจากประตูโมโนเรลไปที่ทางเดิน บันไดดังกล่าวจะถูกเก็บไว้บนรถและบนทางเดินตลอดทาง ส่วนผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์จะต้องช่วยกันอุ้มลงมาที่ทางเดินแล้วเข็นไปที่สถานี
5. สรุปและข้อเสนอแนะ
(1) โมโนเรลไม่ใช้คนขับ แต่ใช้ระบบควบคุมอัติโนมัติซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาด หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ (Human Error) ได้ ทำให้มีความปลอดภัยสูง แต่การไม่ใช้คนขับทำให้ต้องลงทุนงานระบบควบคุมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายในการประกอบการเดินรถถูกลง
(2) โมโนเรลใช้ล้อยาง ไม่ใช่ล้อเหล็ก เพื่อลดเสียงดังและการสั่นสะเทือนที่สร้างความรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยริมทาง มีความนุ่มนวลในการขับขี่ดีกว่า และช่วยให้สามารถเร่งความเร็วหรือเบรกได้อย่างรวดเร็วในระยะทางสั้นๆ ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าสามารถวิ่งต่อเนื่องใกล้ๆ กันได้
(3) เพื่ออำนวยความสะดวก ประหยัดเวลา และลดค่าเดินทางให้ผู้โดยสาร รฟม. ควรพิจารณาต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากสถานีลาดพร้าว บริเวณทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งบนถนนรัชดาภิเษกไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีรัชโยธิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวได้แบบไร้รอยต่อ เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วขึ้น