กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น
ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
สืบเนื่องจากผู้เสียหายถูกผู้ต้องหาหลอกลวงจนเชื่อใจยอมย้ายไปอยู่ด้วยกันกับหนึ่งในกลุ่มของผู้ต้องหา และระหว่างที่อยู่ด้วยกันผู้เสียหายได้ส่งมอบข้อมูลรหัสผ่านในกระเป๋าเงินดิจิทัลของตัวเองให้เพราะความเชื่อใจ จนกระทั่งทางครอบครัวของผู้เสียหายติดตามจนเจอ จึงได้พาตัวผู้เสียหายกลับไปอยู่บ้านและไม่ได้ติดต่อกับทางกลุ่มผู้ต้องหาอีก ต่อมาผู้เสียหายพบว่าอีเมล์ของตนมีการแจ้งเตือนการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากแพลตฟอร์มไบแนนซ์ของผู้เสียหาย ตรวจสอบแล้วพบว่าถูกโอนไปที่แพลตฟอร์มบิทคับ มูลค่าประมาณเกือบ 20 ล้าน จึงได้เดินทางมาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กก.2 บก.สอท.1 เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาขบวนการนี้
จากการสืบสวนพบว่า มีการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้เสียหายออกไปจำนวน 20 ครั้ง โดยเส้นทางการเงินทั้งหมดไปจบที่บัญชีของนายพลาวัฒน์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นหัวหน้าขบวนการในการหลอกลวงครั้งนี้ และนายพลาวัฒน์ ยังมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายว่าตนทำธุรกิจกับต่างประเทศ สามารถติดต่ออดีตผู้นำฟิลิปปินส์ได้ และสร้างความเชื่อถือให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและร่วมลงทุนในธุรกิจ มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 20 ล้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุม นายพลาวัฒน์ อายุ 64 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในความผิดฐาน “ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตนและทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบโดยเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น และร่วมกันลักทรัพย์ และฟอกเงิน” อันเป็นความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 7 , 9 ,12/1และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 , 5” บริเวณภายใน ซอยพหลโยธิน แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
เบื้องต้นผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ให้การว่าเงินที่เข้าบัญชีของตน เป็นเงินที่ผู้เสียหายร่วมลงทุนธุรกิจต่างประเทศกับตนด้วยความสมัครใจ โดยมิได้มีการแฮ็กข้อมูลหรือมีเจตนาหลอกลวง
เตือนภัย ระมัดระวังไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อบุคคลอื่น ประกอบด้วย
1)หมายเลขข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน, เลขหนังสือเดินทาง, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี
2)ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล
3)ข้อมูลธนาคาร เช่น เลขบัญชี, รหัส ATM, เลขบัตรเครดิต
4)ข้อมูลทางชีวมิติ เช่น ลายนิ้วมือ, ข้อมูลแสดงม่านตา
5)ข้อมูลอุปกรณ์ เช่น IP Address, Mac Address, Cookie ID
ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ภูมิสิษฐ์ ตั้งวิทย์เดชา ผกก.2 บก.สอท.1 บช.สอท. พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม