“…เปิดโปงเล่ห์กลขบวนการตัดไม้พะยูงคาโรงเรียน มีมาตั้งแต่ปี 2562 สุดงงคณะกรรมการ 3 ฝ่ายในเขตพื้นที่ มี ผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และ ผอ.ป่าไม้ รวมไปถึง ธนารักษ์จังหวัด ที่จะส่งเจ้าหน้าที่ทำการประเมิน ที่จะมีการสลับรายชื่อกันเป็นประธานคณะกรรมการประเมิน และมีการตัดไปขายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด มีเครือข่ายนายหน้าไม้พะยูงเชื่อมโยงพ่อค้าชาวจีน นำรถบรรทุกสิบล้อพร้อมเลื่อยเข้ามาตัดแบบถูกต้อง พร้อมมีใบเสร็จการันตี อ้าง เพื่อนำเงินเข้าแผ่นดิน หรือเป็นการตัดเพื่อนำเงินไปซื้ออาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน…”
กรณีขบวนการลอบตัดไม้พะยูงออกอาละวาดหนัก ในเขตพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่แม้แต่ภายในโรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่การประถมศึกษาเขต 2 ยังมีการปล่อยให้นายทุนตัดไม้ถึงในโรงเรียน โดยมีการประมูลขายออกไปในราคาต่ำกว่าท้องตลาด ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเตรียมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2566 แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุว่า กรณีการตัดไม้ในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่การประถมศึกษาเขต 2 จ.กาฬสินธุ์ จุดนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งใช้รูปแบบการตั้งคณะกรรมการ ที่จะมี ผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และ ผอ.ป่าไม้ รวมไปถึง ธนารักษ์จังหวัด ที่จะส่งเจ้าหน้าที่ทำการประเมิน ที่จะมีการสลับรายชื่อกันเป็นประธานคณะกรรมการประเมิน และมีการตัดไปขายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด
จากนั้น จะมีเครือข่ายนายหน้าไม้พะยูงเชื่อมโยงพ่อค้าชาวจีน นำรถบรรทุกสิบล้อพร้อมเลื่อยเข้ามาตัดแบบถูกต้อง พร้อมมีใบเสร็จการันตี และที่ไม่มีใครร้องเรียนก็เนื่องจากคิดว่าเป็นนโยบายตัดไม้พะยูงขายเพื่อนำเงินเข้าแผ่นดิน หรือเป็นการตัดเพื่อนำเงินไปซื้ออาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน แต่พอความจริงเปิดเผย ชาวบ้านที่เก็บหลักฐานและภาพถ่าย ก็ได้นำมาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะหวังจะให้จับกุมเครือข่ายค้าไม้ ที่หากินกับช่องทางของกฎหมายในครั้งนี้
อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงนี้ นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้รับทราบข้อมูลแล้ว ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อสั่งการของทางจังหวัด แม้ว่าพื้นที่ป่าไม้จะอยู่ในพื้นที่ของธนารักษ์ แต่ก็มีหนังสือจากอธิบดีกรมธนารักษ์ มอบแนวทางปฏิบัติมายังทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งก็ให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา โดยเนื้อหาต้องร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ แต่หากจะตัด ต้องมีความจำเป็น หรือ เป็นต้นไม้ที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้ได้รับอันตราย ที่จะต้องขออนุญาตและมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณา โดยสรุปการตัดไม้ แม้จะมีการทำเอกสาร ก็ใช่ว่าจะตัดได้ง่ายๆ กรณีนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับหลักฐาน แต่ที่แน่ๆ ต้นไม้พะยูงที่ถูกประมูลขายครั้งนี้ ไม่ควรที่จะตัดด้วยซ้ำ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว คนที่ร่วมกันกระทำความผิด ก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำตามกฎหมายที่นอกเหนือจากด้านวินัย ก็จะต้องถูกดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง
#สืบจากข่าว รายงาน
ดูคลิปข่าวนี้บน Tiktok >>