“..เป็นเรื่องเศร้าสะเทือนใจ กรณีนี้เจ้าทุกข์เขาเดือดร้อนใจจากเหตุการณ์สามีเสียชีวิตก็หนักหนามากพอแล้ว ยังซ้ำเติมเขาด้วยการอาศัยความที่เขาเป็นคนบ้านนอกจนๆ ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ข่มขู่ กรรโชก เรียกเงินจากเขาถึง 5 แสนบาท ซ้ำร้ายเจ้าทุกข์เหมือนหนีเสือปะจระเข้เจอทนายสุมหัวกับตำรวจปล้นเอาอีก โดยอ้างกฎหมายบีบบังคับว่า ยังไงก็ต้องจ่ายเงินให้กับตนเอง 1 แสนบาท และกับตำรวจ 2 แสนบาท ช่างเป็นเรื่องน่าอับอายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาทนายความเสียจริงๆ ที่มีบุคลากรเลวๆ แบบนี้เป็นเหลือบไร สร้างความเลวระยำเสื่อมเสียต่อองค์กรอันทรงเกียรติ…”
จากกรณีเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 66 นางอารยา ผู้เสียหาย ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD ดำเนินรายการโดย นายทิน โชคกมลกิจ เล่าว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 สามีของตนประสบอุบัติเหตุถูกรถชนจนเสียชีวิต จากนั้นศาลได้ตัดสินให้คนที่ขับรถกระบะต้องชดใช้เงินให้ตน 1 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ตนได้รับเงินแล้ว ตำรวจที่ทำคดีตามมาที่ธนาคารเลย ให้ลูกน้องของเขามาประกบตน 2 คน และมาเรียกค่าทำคดี 5 แสนบาท ตนก็ได้ทำการต่อรองกับเขา แต่เขาก็ยังยืนยันว่ามันเป็นค่าทำคดี ต้องจ่าย ตนจึงตัดสินใจหาทนาย โดยทนายคิดค่าจ้าง 105,000 บาท แต่พอจ้างทนายแล้ว เขาไปคุยกับตำรวจกลายเป็นว่า ลดจาก 5 แสน เหลือ 2.5 แสน โดยทนายอ้างว่า ถ้าตนไม่จ่ายจะมีความผิด
ด้วยความที่ตนไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย เลยต้องจำยอมจ่ายเงินให้ตำรวจไป ขณะเดียวกัน วันที่ตนให้เงินกับตำรวจ ตนพยายามยกมือไหว้ขอความเห็นใจจากตำรวจว่าอย่าเอาเงินก้อนนี้ไปเลย ขอให้ตนเองไปเอาเงินก้อนนี้ไปรักษาตัวเนื่องจากตนเองป่วยหนัก แต่ตำรวจกลับไม่ยอม ยืนยันว่าจะต้องได้เงิน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตนอยากได้เงินคืน
ด้าน นายเกษม ผู้ประสานงานและช่วยเหลือทางคดี กล่าวว่า ตนเจอผู้เสียหายจากโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ที่เธอได้โพสต์ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงติดต่อเข้าช่วยเหลือ และประสานไปยังไปสื่อต่าง ๆ เพราะตนเห็นว่าเขาไมได้รับความยุติธรรมจากตำรวจ ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ได้มีความรู้ด้านกฎหมาย และยังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลด้วย ทั้งนี้ ตำรวจนายดังกล่าวมีการอ้างว่า ถ้าเขาไม่ออกเอกสารคดีให้ ประกันก็ทำเรื่องไม่ได้ นอกจากนี้ นายตำรวจรายดังกล่าว มีประวัติการก่อวีรกรรมเรื่องฉาวลักษณะดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ด้วย
ขณะที่ นายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เผยว่า อย่างแรกตนต้องบอกก่อนว่า พฤติกรรมเหล่านี้ เป็นการกระทำเฉพาะตัวคน ไม่เกี่ยวกับองค์กร สำหรับกรณีนี้ มันน่าเจ็บปวด มันเป็นการค้าสำนวนจากความตายของผู้เสียหาย เพราะเขาได้สิทธิ์เงินค่าสินไหมทดแทนวงเงินประกันอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นคดีแพ่งที่ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จริง ๆ ไม่ต้องไปจ้างทนายด้วยซ้ำ ยังไงตำรวจก็ต้องทำหน้าที่ไม่มีสิทธิ์มาเรียกเก็บเงิน อย่างไรก็ตาม ตนแนะนำให้ผู้เสียหายไปร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรม และให้ยื่นคุ้มครองพยานด้วย
ส่วนความผิด ถ้าตำรวจนายนี้มีพฤติกรรมตามที่กล่าวมาจริง เขาจะมีความผิด มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น – 2 แสนบาท อีกทั้ง ถ้าใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น จะมีความผิดตามมาตรา 148 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 10 ปี ปรับ 1 แสน – 4 แสนบาท อีกทั้งเป็นความผิดมิอาจยอมความได้
เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในหน้าสื่อจะพบว่า พฤติกรรมตำรวจฉาว ใช้เครื่องแบบและหน้าที่การงานค้าสำนวนคดี โดยเมื่อมองเห็นช่องว่างในสำนวนคดี ก็จะเผยพฤติกรรมเลวทราบ สันดานโจร ขูดรีดคนตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งโจทย์ หรือจำเลย
เป็นเรื่องเศร้าสะเทือนใจ กรณีนี้เจ้าทุกข์เขาเดือดร้อนใจจากเหตุการณ์สามีเสียชีวิตก็หนักหนามากพอแล้ว ยังซ้ำเติมเขาด้วยการอาศัยความที่เขาเป็นคนบ้านนอกจนๆ ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ข่มขู่ กรรโชก เรียกเงินจากเขาถึง 5 แสนบาท ซ้ำร้ายเจ้าทุกข์เหมือนหนีเสือปะจระเข้เจอทนายสุมหัวกับตำรวจปล้นเอาอีก โดยอ้างกฎหมายบีบบังคับว่า ยังไงก็ต้องจ่ายเงินให้กับตนเอง 1 แสนบาท และกับตำรวจ 2 แสนบาท ช่างเป็นเรื่องน่าอับอายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาทนายความเสียจริงๆ ที่มีบุคลากรเลวๆ แบบนี้เป็นเหลือบไร สร้างความเลวระยำเสื่อมเสียต่อองค์กรอันทรงเกียรติ…
#สืบจากข่าว รายงาน