วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกการเงิน-การลงทุนการเงิน-การคลังพาณิชย์เผยเงินเฟ้อ ส.ค. ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.88

Related Posts

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อ ส.ค. ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.88

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2566  สูงขึ้นร้อยละ 0.88  เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 0.38 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงาน  ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท  ยกเว้นกลุ่มดีเซลราคาปรับลดลง รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ อาทิ เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง และรถเมล์เล็ก/สองแถว ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระ ยาสีฟัน) ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง  ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ  พบว่า อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นบางประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ อินเดีย อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม)

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค. – ส.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.01 (AoA)  อยู่ในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (ร้อยละ 1.0 – 3.0) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกันยายน 2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความต้องการ อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น

รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือนกันยายน 2565 ที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0 – 2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนสิงหาคม 2566 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 53.3 ในเดือนก่อนหน้า จากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สาเหตุคาดว่ามาจาก เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ การจัดตั้งรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน  โดยยังต้อง ติดตามราคาพลังงาน สินค้าและบริการ  ยังอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยทอนความเชื่อมั่นของประชาชน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts