นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2566 ตนในฐานะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุและการพัฒนาตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุ ร่วมกับผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวม 14 ประเทศ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการรณรงค์และผลักดันการรับรองตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยที่ประชุมเห็นว่า สิทธิของผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยและขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลานานทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งมีข้อถกเถียงที่สำคัญคือ มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีในปัจจุบันนั้นเพียงพอต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกของสหประชาชาติก็ยังไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาจากกลไกต่าง ๆ มีข้อค้นพบในทิศทางเดียวกันว่า กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดและยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับรองสิทธิของผู้สูงอายุและให้การคุ้มครองผู้สูงอายุในระดับระหว่างประเทศ อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมประเด็นเฉพาะที่กลุ่มผู้สูงอายุต้องเผชิญ เช่น การเหยียดอายุ (ageism) การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอายุ (age discrimination) ปัญหาความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง การถูกแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สิน และปัญหาการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (long-term care) เป็นต้น ขณะที่ กรอบพันธกรณีและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถกำหนดแนวทางให้กับรัฐบาลต่าง ๆ ในการออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการประกันสิทธิของผู้สูงอายุได้มากยิ่งขึ้น
โดยในการประชุมครั้งนี้ ตนได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในภาพรวมของโลกที่ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุมากกว่าอัตราส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และภายในปี ค.ศ. 2050 คาดการณ์ว่าอัตราส่วนของผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 นอกจากนี้ ผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกัน เช่น การเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ การไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนมากต้องพึ่งพิงคนในครอบครัว ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น ความรุนแรงและการถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในมิติต่าง ๆ เช่น บริการด้านสุขภาพ หลักประกันรายได้ และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (completed aged society) ตามข้อมูลทางสถิติที่มีรายงานประชากรอายุเกิน 60 ปี มีมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) คือมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดในอีกประมาณ 7-8 ปีข้างหน้า ในขณะที่โครงสร้างสังคมยังมีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวที่อยู่รวมกันขนาดใหญ่กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว บุตรหลานต้องเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้ผู้สูงอายุต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง หรือถูกทอดทิ้ง ทั้งนี้ สิทธิของผู้สูงอายุในประเทศไทยยังมีข้อท้าทายหลายประการ เช่น การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีทำให้เป็นอุปสรรคในการได้รับบริการจากรัฐ หรือสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ยังไม่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
“การประชุมหารือครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุร่วมกัน โดยที่ประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญในการรับรองสิทธิของผู้สูงอายุในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการให้คำแนะนำ และเป็นสะพานเชื่อมภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ กสม. ไทยได้ร่วมเรียกร้องให้เครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชน (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของผู้สูงอายุ และเพิ่มการสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้คณะทำงานด้านผู้สูงอายุของสหประชาชาติ (The UN General Assembly’s Open-ended Working Group on Ageing: OEWGA) มีข้อเสนอแนะไปยังสมัชชาสหประชาชาติให้เริ่มต้นกระบวนการร่างสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุ เพื่อผลักดันให้สิทธิของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนกระแสหลักต่อไป” นายวสันต์กล่าว