วันที่ 22 กันยายน 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ.,
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกทลายโรงงานผลิตยาจุดกันยุงเถื่อน และจุดกระจายสินค้า
3 จังหวัด ที่มีสารเคมีอันตราย กว่า 227,000 กล่อง มูลค่ากว่า 4,540,000 บาท
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบสินค้ายาจุดกันยุงจีน ยี่ห้อ Goldeer และ Laojun (รูปเด็กอ่อน) ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ วางจำหน่ายในสื่อโซเชียลและตามร้านค้าขายปลีก
พบมีสารเคมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (วัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือน ชนิดที่ต้องขออนุญาตนำเข้า ผลิต และจำหน่าย) สารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethriods) ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.2556 ที่ 4.2 รายชื่อสารควบคุม เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่ง อย. ไม่เคยอนุญาตให้นำเข้า ผลิต หรือจำหน่ายในรูปแบบยาจุดกันยุง ที่ใช้ในบ้านเรือนเพื่อประโยชน์แก่การระงับ ป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์ เพราะเป็นพิษต่อคนและสัตว์ หากสูดดมควันในปริมาณมาก ในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทเป็นเวลานาน อาจทำให้รู้สึกมึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติได้ รวมถึงอาการแพ้ ผื่นแดง คัน หากเข้าตาอาจเกิดอาการระคายเคือง โดยกล่องผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงจีน
ยี่ห้อ Laojun มีรูปหน้ากล่องเป็นรูปเด็กอ่อน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนหลงผิดคิดว่าไม่มีสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาด จึงเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีวัตถุอันตรายที่เป็นส่วนผสม
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ อย. ลงพื้นที่สืบสวนหาแหล่งกระจายสินค้าในพื้นที่จังหวัดชัยนาท, อ่างทอง และสุพรรณบุรี พบและยึด อายัด ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงจีน ยี่ห้อ Goldeer และ Laojun (รูปเด็กอ่อน) รวมกว่า 14,774 กล่อง ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ เบื้องต้นสอบสวนปากคำเจ้าของร้านค้าส่งทั้ง 3 ร้าน รับว่าได้ซื้อมาจากผู้ขายชาวจีนและคนไทย ไม่ทราบชื่อสกุลจริง ไม่ระบุบริษัทนำเข้า หรือผู้ผลิต ซึ่งเชื่อว่าผลิตในประเทศไทย ในราคากล่องประมาณละ 12 บาท ราคาขายหน้าร้านกล่องละ 18 – 20 บาท จึงได้ตรวจยึดไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
จากการสืบสวนขยายผลหาแหล่งผลิตพบว่า เมื่อเดือน เม.ย.66 มีโรงงานผลิตยาจุดกันยุงในพื้นที่
จังหวัดสมุทรสาครที่เคยผลิตยาจุดกันยุงยี่ห้อหนึ่ง ที่ได้รับเลขผลิตภัณฑ์ถูกต้อง แต่ผลการตรวจสอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin)
และไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ผสมอยู่ และอาจเข้าข่ายผลิตยาจุดกันยุงยี่ห้อจีนที่ตรวจยึดได้จากการลงพื้นที่ 3 จังหวัดข้างต้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ อย. กองควบคุมวัตถุอันตราย บูรณาการเข้าค้นตรวจสอบและยึดอายัดของกลาง พบว่าขณะเข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่าวกำลังผลิตยาจุดกันยุง ยี่ห้อ Goldeer กล่องสีฟ้า ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ โดยการอบสารเคมีและบรรจุผลิตภัณฑ์ลงกล่องพร้อมจำหน่าย และมียาจุดกันยุงบรรจุลังกระดาษตราเสือ กล่องสีแดง ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ บรรทุกใส่รถกระบะเตรียมนำไปส่งลูกค้าอยู่ในขณะเข้าทำการตรวจค้น สอบสวนปากคำนางณัธวรรณ สงวนนามสกุล ให้การว่า ได้ทำการสั่งซื้อยาจุดกันยุงชนิดขดสีดำจากประเทศจีน นำเข้ามาเพื่ออบสารเคมีที่ใช้ไล่ยุงจริง โดยสารเคมีที่ใช้อบยาจุดกันยุงไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าเอง และไม่ได้ขออนุญาตผลิตเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด จากนั้นได้นำมาบรรจุในกล่องผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายหลายยี่ห้อ (ใช้ขดยาจุดกันยุงสีดำชนิดเดียวกันที่ผลิตออกมาบรรจุ) ได้แก่
- ยาจุดกันยุงตรา Goldeer กล่องสีฟ้าจำนวน 4,826 กล่อง
- ยาจุดกันยุงตรา Laojun (รูปเด็กอ่อน)จำนวน 9,555 กล่อง
- ยาจุดกันยุงตรา เสือ กล่องสีแดงจำนวน 13,440 กล่อง
- ยาจุดกันยุงตรา สิงโต กล่องสีฟ้า จำนวน 3,811 กล่อง
- ยาจุดกันยุงตรา ริชเนส กล่องสีน้ำเงินจำนวน 50 กล่อง
- ยาจุดกันยุงตรา ริชเนส กล่องสีเขียวจำนวน 120 กล่อง
- ขดยาจุดกันยุงเปล่ายังไม่บรรจุกล่องยี่ห้อผลิตภัณฑ์จำนวน 180,720 กล่อง
รวมของกลางที่ตรวจยึดและอายัด 7 รายการ จำนวน 212,522 กล่อง โดยของกลางที่ตรวจยึดและอายัดรายการที่ 1 – 4 เป็นผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงที่ไม่มีเลข อย. และไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ในส่วนของของกลางรายการที่ 2 พบว่าด้านหลังกล่องผลิตภัณฑ์มีล๊อตการผลิตระบุวันผลิตและหมดอายุ “20230701/20260701” และตัวหนังสือภาษาไทย “ผลิตภัณฑ์นี้เป็นของแท้” ระบุตรงกับของกลางที่ตรวจยึดได้ที่จังหวัดชัยนาทก่อนหน้านี้จริง จึงเชื่อได้ว่าโรงงานแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายให้กับร้านค้าต่าง ๆ
ในส่วนของกลางที่ตรวจยึดมาได้ ทาง อย. ได้นำส่งตัวอย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจหาสารเคมีอันตรายที่เป็นส่วนผสมแล้ว โดยหากพบว่ามีสารเคมีซึ่งมีวัตถุอันตรายตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ 2556 ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.2556 ที่ 4.2 รายชื่อสารควบคุม เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) จริง การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ฐานผลิต และขายวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
1. โรงงานผู้ผลิต และครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ระวางโทษตามมาตรา 73 จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและผลิตวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนฝ่าฝืนมาตรา 45 (4) ระวางโทษตามมาตรา มาตรา 78 จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
2. ร้านค้าผู้ขายจะมีความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนฝ่าฝืนมาตรา 45 (4) ระวางโทษตามมาตรา มาตรา 78 จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง หรือยาฆ่าแมลงชนิดฉีดพ้นเพื่อใช้ในบ้านที่ไม่มีเลขผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ก่อนซื้อจะต้องตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์มีภาษาไทยกำกับ มีข้อบ่งใช้ และมีเลขผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า และจำหน่ายในประเทศอย่างถูกต้อง เพราะสารเคมีที่เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลง หรือไล่แมลง ออกฤทธิ์โดยตรงต่อคนและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน การซื้อสินค้าต้องซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ราคาเป็นธรรม และไม่ถูกกว่าราคาจำหน่ายท้องตลาดจนเกินไป และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายยาจุดกันยุง หรือยาฆ่าแมลงชนิดฉีดพ้น ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จากการตรวจสอบแหล่งค้าส่งยาจุดกันยุงเถื่อนฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ ยี่ห้อ Goldeer และ Laojun (รูปเด็กอ่อน) ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับ อย. ที่จังหวัดชัยนาท อ่างทอง และสุพรรณบุรี จนนำไปสู่การขยายผลหาแหล่งผลิตรายใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยพบว่ากำลังผลิตยาจุดกันยุงยี่ห้อ Goldeer และกำลังส่งยาจุดกันยุง ตราเสือ อีกทั้งพบยาจุดกันยุงตราเด็ก เป็นจำนวนมากด้วย
ทั้งนี้ยาจุดกันยุงยี่ห้อดังกล่าว ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขออนุญาตกับทาง อย. จึงไม่ได้ผ่านการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อตัวผู้ใช้ได้ จากที่เคยส่งตรวจสอบยาจุดกันยุงดังกล่าวพบสาร Dimefluthrin และ Meperfluthrin จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ซึ่งเป็นสารที่ อย. ยังไม่เคยรับขึ้นทะเบียน โดยสารกลุ่ม Pyrethroids มักมีการโฆษณาว่าเป็นสารจากดอกไพรีทรัมอ้างว่ามีความปลอดภัยสูงซึ่งไม่เป็นความจริง ซึ่งสารดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบประสาทและความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณที่ร่างกายรับเข้าไป ซึ่งร่างกายรับสารนี้ได้ทางการกินกับการหายใจ หากได้รับปริมาณมากจะมีอาการมึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก ชัก หมดสติ หรือพบอาการอื่น ๆ เช่น การระคายเคืองผิวหนังหรือทางเดินหายใจ
จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้ออย่าใช้ยาจุดกันยุงที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย รวมทั้งมีการกล่าวอ้างว่ามีส่วนผสมจากสารสกัดจากดอกไพรีทรัม ปลอดภัย เพราะอาจได้รับอันตราย หากจะยาจุดกันยุง ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยให้สังเกตที่ฉลาก ต้องมีเลขทะเบียน อย. วอส. ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบยาจุดกันยุงที่ไม่มีฉลากภาษาไทย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ