2 ตุลาคม 2566 เอกชนพร้อมใจช่วยลดราคาสินค้าอุปโภคและบริโภครวมถึงค่าบริการตั้งแต่ร้อยละ 20-87 มากถึง 151,676 รายการ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนทั้งประเทศเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.66 ก่อนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน คาดสามารถลดค่าครองชีพครั้งนี้ได้ 2,000-3,000 ล้านบาท
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับภาคประกอบการตามแนวทางของกระทรวงพาณิชย์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส โดยดึงผู้ประกอบการ 288 ราย ประกอบด้วย ผู้ผลิตสินค้า ของกินของใช้จำเป็น รวม 88 ราย ผู้จำหน่าย ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ห้างท้องถิ่น และห้างขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ช่าง รวม 83 ราย ผู้ให้บริการ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการรถยนต์ และบริษัทขนส่งสินค้า/พัสดุ รวม 110 ราย แพลตฟอร์ม 7 ราย ปรับลดราคาสินค้าและบริการ รวมทั้งสิ้น 151,676 รายการ และแต่ละแพลตฟอร์มแจกโค้ดส่วนลดใช้สั่งอาหารและซื้อสินค้าออนไลน์ รวม 1,012,000 รายการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ลดราคา แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารสำเร็จรูป ข้าวสาร ซอสปรุงรส และเครื่องดื่ม รวม 3,058 รายการ ลดสูงสุด 87% หมวดของใช้จำเป็น เช่น ของใช้ประจำวัน เครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน-อุปกรณ์ช่าง ยาและเวชภัณฑ์ รวม 8,290 รายการ ลดสูงสุด 80% และหมวดปัจจัยการเกษตร ทั้งปุ๋ย เคมีเกษตร และอาหารสัตว์ 198 รายการ ลดสูงสุด 40% สำหรับกลุ่มบริการ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวดบริการทางการแพทย์ 140,000 รายการ ลดสูงสุด 20% หมวดบริการซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ 123 รายการ ลดสูงสุด 50% และหมวดบริหารขนส่งสินค้า/พัสดุ 7 รายการ ลดสูงสุด 69%
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการทุกรายที่ออกมาประกาศปรับลดราคาสินค้าและบริการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ยังช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปลายปี ที่สำคัญช่วยสร้างสมดุลให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมในลักษณะ Win-win ทั้งประชาชนผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่
นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การลดราคาสินค้าครั้งนี้มีจากปัจจัยการผลิตที่มีผลต่อต้นทุนสินค้า เช่น ค่าไฟ น้ำมัน เพียงบางส่วนเท่านั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องช่วยลดต้นทุนในส่วนที่สามารถลดได้ ทั้งนี้หากราคาสินค้ามีต้นทุนสูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ จะมีการทบทวนสินค้าตามความเหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้ พร้อมยืนยันว่า การลดราคาสินค้าในครั้งนี้ไม่ได้มีผลทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น
นายสมเกียรติ มรรยาธร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการข้าวถุงพร้อมให้ความร่วมมือลดราคาสินค้า โดยข้าวหอมมะลิ ขนาด 5 กิโลกรัมราคาปรับลดลงร้อยละ 20 ส่วนข้าวขาวที่มีความต้องการสูงและมีการส่งออกค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับต้นทุนของผู้ประกอบการแต่ละรายว่าจะสามารถลดได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับต้นทุน
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักงานผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ ระบุว่า การลดราคาสินค้าสามารถทำได้ เพราะหลายส่วนให้ความร่วมมือ อย่างเช่น การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ห่อละ 7 บาท จะมีต้นทุนทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าแรง ไปจนถึงห้าง ถ้าต้นทุนบางอย่างลดลงก็สามารถทำให้สินค้าถูกลงได้ แต่ไม่ใช่ให้ผู้ผลิตลดฝ่ายเดียว