การประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ตามข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศบนเส้นทางสายไหมในหลากหลายมิติทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม
นายกรัฐมนตรีของไทยเป็นหนึ่งในผู้นำที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้นำเสนอเมกะโปรเจ็กต์โครงการ Landbrige เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์สองฝั่งมหาสมุทร รวมทั้งนำเสนอไทยเป็น EV Hub พร้อมสนับสนุนการพัฒนา Digital และการท่องเที่ยวไทย ระหว่างไทยกับจีน
ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างกันมาตั้งแต่อดีต มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่สืบเชื้อสายมาจากเชื้อชาติจีน และจะครบรอบ 48 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนดำเนินมาอย่างราบรื่น
ไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล จึงถือเป็นโอกาสดีในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศไทยกับจีน ปัจจุบันไทยมีเส้นทางถนน R3A ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังคุนหมิง ทางน้ำมีการเดินเรือในแม่น้ำโขงและการเดินเรือสมุทรระหว่างไทยกับจีน ส่วนทางอากาศก็มีเส้นทางบินตรงจากเมืองใหญ่หลายเมืองของจีนมาไทย
ในด้านการลงทุน ไทยมีแผนดำเนินโครงการ Land Bridge สร้างความเชื่อมโยงจากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทย มีลักษณะทางกายภาพสามารถเปิดสู่ทะเลทั้งสองด้าน และสามารถเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลา และระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังรองรับและส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)
องค์ประกอบสำคัญที่จะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง มอเตอร์เวย์ และทางท่อ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที่
การพัฒนาโครงการฯ เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยโครงการฯ มีความเหมาะสมในการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวนกว่า 280,000 ตำแหน่ง และเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปีอีกด้วย
นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนการลงทุนด้วยนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการลงทุนในไทย และการในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) การสนับสนุนการลงทุนด้วยมาตรการจาก BOI ด้วยข้อได้เปรียบของไทยที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภูมิภาค การเข้ามาทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับไทย จึงไม่เพียงแค่รองรับประชากร 67 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงประชากรกว่า 620 ล้านคนในอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ Landbridge ข้างต้น
ในส่วนของโครงการ Landbridge นอกจากจะเกิดการพัฒนาด้านโครงสร้างแล้ว โครงการใหญ่ Mega Project ขนาดนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาทาง Digital นำทางสู่การขยายความเจริญทางดิจิทัลสู่ชุมชน ต่อยอดการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการพัฒนาทางการศึกษาอย่างควบคู่ไปด้วย และความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจเหล่านี้ จะก่อให้เกิดการสร้างงานจำนวนมหาศาล
เมื่อมีการพัฒนาด้านโครงสร้างทางรูปธรรมแล้ว รัฐบาลวางแผนพัฒนาทางดิจิทัล เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุมเห็นภาพชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการลงทุนในธุรกิจ Cloud Service Smart City และการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย รวมทั้งการพัฒนาทางการเกษตร Smart Agriculture
ในส่วนของการลงทุน EV Hub นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อตั้งศูนย์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ครบวงจรของภูมิภาค โดยได้ย้ำถึงศักยภาพของไทยปัจจัยสนับสนุนที่พร้อม และสภาพแวดล้อมที่ได้เปรียบ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับ carbon credit และมีผู้ผลิตหลายรายที่แสดงความประสงค์ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทย โดยไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตด้านรถยนต์ EV อย่างครอบคลุม
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สร้างความมั่นใจแก่ฝ่ายจีนว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัย และพร้อมอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวจีน ผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และพร้อมผลักดันให้เป็นมาตรการแบบถาวรต่อไป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของสองประเทศ
ทั้งหมดนี้ทำให้โครงการที่รัฐบาลวางแผนดำเนินการนี้ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในวงกว้าง เชื่อว่าจะต่อยอดนำมาถึงการลงทุนที่มากกว่า 1 ล้านล้านบาท