วันที่ 26 ตุลาคม 2566 เวลา 11.45 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 39/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
- กสม. ชี้ กรณี สตม. ควบคุมตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ไว้เป็นเวลานานโดยไม่มีกำหนดปล่อยตัว กระทั่งเจ็บป่วยและเสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่า นายอาซิซ อับดุลลาห์ (Mr. Aziz Abdullah) ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ อายุ 49 ปี เสียชีวิตในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) (ผู้ถูกร้อง) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยก่อนจะเสียชีวิต นายอาซิซได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องทราบว่ามีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยหอบ จึงขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ได้รับการปฏิเสธ นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ยังปรากฏกรณีนายมูฮัมหมัด คุรบาน (Mr. Muhammed Kurban) อายุ 40 ปี เสียชีวิตในห้องกักของผู้ถูกร้องเช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนที่จะเสียชีวิต นายมูฮัมหมัดมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและอาเจียนในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผู้ร้องเห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการกักขังเป็นเวลานาน ไม่มีกำหนดระยะเวลา สภาพความเป็นอยู่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารไม่เพียงพอ ต้องอยู่ในห้องกักตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมเพียงพอ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า สิทธิการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีเป็นสิทธิของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองความเสมอภาคของบุคคลไว้ โดยรัฐมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนภายในประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใด ๆ
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นการเสียชีวิตของผู้ต้องกักทั้งสอง ปรากฏว่า กรณีนายอาซิซ แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากปอดอักเสบติดเชื้อ ส่วนกรณีนายมูฮัมหมัด แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว สอดคล้องกับข้อมูลของแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ โดยกรณีนายอาซิซ แม้จะตรวจพบบาดแผลภายนอกร่างกาย แต่คาดว่าเกิดจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่พบได้ ส่วนที่พบว่ามีกระดูกซี่โครงหักหลายตำแหน่ง น่าจะเกิดจากการช่วยชีวิต ในชั้นนี้ จึงยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของผู้ต้องกักทั้งสองเกิดจากการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกร้อง
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าผู้ต้องกักทั้งสองรายเสียชีวิตในวันเดียวกันกับที่แสดงอาการเจ็บป่วย โดยสาเหตุการเสียชีวิตอาจแสดงให้เห็นว่ามีข้อจำกัดในการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ต้องกักหลายประการและมีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย เช่น ผู้ต้องกักไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยที่ครบถ้วนเพียงพอแก่เจ้าหน้าที่ก่อนถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่กับผู้ต้องกักสื่อสารกันได้ไม่ดีพอ การขาดเวชภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับให้การรักษาเบื้องต้น เกิดภาวะการระบาดของโรคที่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบเหตุ เป็นต้น
สำหรับประเด็นห้องกักมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม เกิดจากการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งปัจจุบัน สตม. ได้เสนอของบประมาณเพื่อก่อสร้างสถานกักตัวแห่งใหม่ให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นและรองรับผู้ต้องกักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณหรือไม่ เมื่อใด ส่วนประเด็นการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข สตม. ได้ให้บริการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่มีอยู่ ตลอดจนมีระบบส่งต่อผู้ต้องกักที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ และมีการคัดกรองสุขภาพก่อนเข้ากักตัวแล้ว แต่ยังพบข้อจำกัดอีกหลายประการ เช่น ขาดแคลนงบประมาณค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่ผู้ต้องกักเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วไม่มีญาติหรือสถานทูตให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย แพทย์ที่ได้รับการประสานจากหน่วยงานภายนอกจะเข้ามาให้บริการเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน ผู้ต้องกักมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคทางจิตเวชสูงขึ้นแต่ยังไม่มีจิตแพทย์เข้าไปให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
กสม. เห็นว่า ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ถูกจำแนกให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลให้การดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐจะต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและเต็มไปด้วยข้อจำกัด อันก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิดและเชื้อชาติ โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อกับญาติ บุคคลภายนอก หรือหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน ซึ่งแตกต่างจากผู้ต้องกักทั่วไป รวมทั้งไม่มีแนวโน้มที่จะถูกส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศที่ปลอดภัยต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากนโยบายด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยังไม่ชัดเจนและไม่มีกำหนดเวลาดำเนินการที่จริงจัง ในชั้นนี้ การควบคุมตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ไว้ที่ สตม. เป็นเวลานาน ไม่มีกำหนดที่จะปล่อยตัวหรือส่งตัวออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานของสหประชาชาติ เร่งหามาตรการหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรม รวมถึงระยะเวลาที่ชัดเจนในการส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ที่อยู่ในความดูแลของ สตม. ออกนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศที่สามที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต แล้วเสนอผลสรุปจากการหารือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งแก้ไขปัญหาห้องกักของ สตม. ที่มีความแออัดและสภาพทรุดโทรม โดยระยะสั้น ให้ปรับปรุง ทำความสะอาด และจัดระเบียบของห้องกักให้มีสภาพที่ดีขึ้น ระยะยาว ให้เร่งรัดการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างสถานกักตัวคนต่างด้าวแห่งใหม่ และให้สนับสนุนสิ่งจำเป็นต่อการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและงบประมาณให้เพียงพอต่อภารกิจ รวมถึงหามาตรการรองรับแนวโน้มจำนวนผู้ต้องกักที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชด้วยการจัดให้มีจิตแพทย์เข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำอย่างสม่ำเสมอด้วย