วันเสาร์, กันยายน 21, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพฯ คณะแพทยศาสตร์ มช. ส่งผลกระทบต่อชุมชน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาความเสียหายและกำกับดูแลการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด

Related Posts

กสม. ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพฯ คณะแพทยศาสตร์ มช. ส่งผลกระทบต่อชุมชน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาความเสียหายและกำกับดูแลการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนถนนสิโรรส ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า โครงการอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข พร้อมที่จอดรถ 9 ชั้น (Medical Hub) ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาแห่งหนึ่งก่อสร้างอาคารมาตั้งแต่ปี 2562 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในชุมชนถนนสิโรรส ชุมชนเชียงคำ และชุมชนสวนดอก กว่า 400 ครัวเรือน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการและบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม และในกรณีรัฐจะดำเนินการใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม จะต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และต้องมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและไม่ชักช้า ทั้งยังรับรองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพอีกด้วย

จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า การก่อสร้างโครงการของคณะแพทยศาสตร์ มช. มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนถนนสิโรรส มาตั้งแต่ปี 2563 เช่น ผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินกิจกรรมก่อสร้าง ฝุ่นละออง สิ่งของตกหล่น แรงสั่นสะเทือนที่ทำให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย น้ำฝนและน้ำจากกระบวนการก่อสร้างที่ไหลออกนอกพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น แม้คณะแพทยศาสตร์ มช. ในฐานะเจ้าของโครงการ จะชี้แจงว่า ได้ดำเนินการควบคุมกำกับการก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมาให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่การควบคุมกำกับนั้นอาจไม่เพียงพอและไม่มีความพยายามที่จะดำเนินการตามหน้าที่ของรัฐในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและไม่ชักช้า นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การก่อสร้างโครงการโดยบริษัทผู้รับเหมา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนถือเป็นกรณีที่เอกชนมิได้ดำเนินการตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ที่กำหนดหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้บริษัทจะได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาบางส่วน เช่น ซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย และกำชับและควบคุมการทำงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นอีก ดังนั้น การก่อสร้างโครงการอาคารศูนย์บริการสุขภาพฯ ของคณะแพทยศาสตร์ มช. จึงมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินในอันที่จะใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของตน และเป็นการละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการ จนกระทั่งเกิดผลกระทบต่อชุมชน ประชาชนได้ร้องเรียนไปยังเทศบาลนครเชียงใหม่ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลการก่อสร้างโครงการ แต่พบว่า เทศบาลนครเชียงใหม่มิได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีเพียงหนังสือแจ้งกำชับให้คณะแพทยศาสตร์ มช. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประกาศเทศบาลนครเชียงใหม่ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้างฯ พ.ศ. 2534 เท่านั้น โดยไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดของการกำกับดูแลการก่อสร้าง ทั้งยังไม่เร่งวางแผนหรือดำเนินการให้มีระบบระบายน้ำเพื่อรองรับการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน จึงเห็นว่า เทศบาลนครเชียงใหม่มีการกระทำหรือละเลยการกระทำในการกำกับดูแลการก่อสร้าง จนส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนของชุมชนโดยรอบ

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้คณะแพทยศาสตร์ มช. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ สำรวจ แก้ไข ชดเชยเยียวยาความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินและสุขภาพอนามัยของประชาชนจากการก่อสร้างโครงการอาคารศูนย์บริการสุขภาพฯ โดยให้เทศบาลนครเชียงใหม่ ควบคุมกำกับการก่อสร้างโครงการอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องจนกว่าจะไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง รวมทั้งเร่งรัดการวางแผนงานและจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดทำระบบระบายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนถนนสิโรรสทั้งหมดก่อนการเปิดใช้อาคารด้วย

(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะแพทยศาสตร์ มช. จังหวัดเชียงใหม่ และ สผ. สำรวจและแก้ไขหรือจัดทำแผนการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะเปิดใช้โครงการ เช่น แสงสะท้อนจากกระจกอาคาร ฝุ่นควันจากอาคารจอดรถ ปัญหาการจราจร และให้ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สำรวจผลกระทบจากอาคารของโครงการที่อาจบดบังทิศทางลมและแสงแดดต่อบ้านเรือนของผู้ร้องที่อยู่ติดกับแนวเขตโครงการ หากพบว่าอาคารก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ จะต้องดำเนินการชดเชยหรือเยียวยาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ให้ สผ. ตรวจสอบการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโครงการ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทผู้รับเหมาว่าเป็นการจัดทำรายงานที่ตรงกับความเป็นจริง และสอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่

นอกจากนี้ ให้บริษัทผู้รับเหมานำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ไปปรับใช้กับการประกอบธุรกิจและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการด้วย

(3) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้ สผ. นำกรณีตามเรื่องร้องเรียนนี้ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดให้ในรายงานต้องประกอบด้วยการสำรวจความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อโครงการในระยะการก่อสร้าง และให้ปิดประกาศรายงานดังกล่าวไว้ในสถานที่ที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการฯ ได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts