“…น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ยังได้สิทธิพิเศษ จับตา เทพไท เสนพงศ์ พร้อมน้องชาย มาโนช เสนพงศ์ จะได้ออกจากเรือนจำพร้อมติดกำไล EM ซึ่งก่อนหน้านี้ นายพงษ์สินธ์ เสนพงศ์ น้องชายที่เข้าไปเยี่ยม และได้ฝากข้อความการเรียกร้องให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้ง นายวัชระ เพชรทอง ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ เรื่องการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลของ น.ช.เทพไท เสนพงศ์..”
จากคดีทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 ก่อนจะมีการดำเนินคดี ส่งผลให้ นายมาโนช เสนพงศ์ นายก อบจ.นครศรีธรรมราช พ้นจากตำแหน่ง และถูกดำเนินคดีอาญา โดยมีจำเลยสำคัญคดีนี้ 2 ราย คือ นายมาโนช เสนพงศ์ และ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี เมื่อ 6 กรกฎาคม 2565 ตามคดีหมายเลขดำที่ 174/2562 หมายเลขแดงที่ 485/2563 โดยทั้งคู่ถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2566 แหล่งข่าวรายหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีนี้ได้เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาให้มีการพักโทษ นายเทพไท เสนพงศ์ และน้องชาย คือนายมาโนช เสนพงศ์ แล้วทั้งคู่มีกำหนดถูกปล่อยตัวในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 คือวันพรุ่งนี้ แต่จะมีข้อกำหนดคือจะต้องถูกสวมกำไลอีเอ็มอีก 9 เดือนจนครบโทษ และถูกจำกัดพื้นที่ตามที่ทั้งคู่แจ้งเท่านั้น ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ และจะต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุกเดือนจนครบกำหนดโทษที่เหลืออีก 9 เดือน หลังหักเวลาถูกจองจำมาแล้ว 15 เดือน จากโทษทั้งหมด 2 ปี และปลดกำไลอีเอ็มเมื่อครบเวลา ส่วนหลักการสำคัญที่ได้รับการพักโทษนั้น ผู้เกี่ยวข้องรายนี้ระบุว่า จากเหตุนักโทษทั้งคู่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จำคุกมาแล้วมากกว่า 1 ใน 3 จึงเข้าข่ายได้รับสิทธิการพักโทษ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อ 22 กันยายน 2566 นายเทพไท เสนพงศ์ ได้ส่งข้อมูลผ่าน นายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ น้องชายที่เข้าไปเยี่ยม และได้ฝากข้อความการเรียกร้องให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับ นายทักษิณ ชินวัตร และอ้างถึงคุณสมบัติที่เหนือกว่าอดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากผ่านไปเพียงไม่นาน ปรากฏว่า นายเทพไท และนายมาโนช อาจจะได้รับการพิจารณาพักโทษ โดยระบุว่าเป็นไปตามระเบียบการขอพักโทษของกรมราชทัณฑ์
อีกทั้งนายวัชระ เพชรทอง ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการลงวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ถึง นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เรื่อง การยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลของ น.ช.เทพไท เสนพงศ์ โดยส่งเอกสารข่าว สําเนาข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ พาดหัวข่าวว่า
ทําไมต่าง ‘น.ช.แม้ว”?! ‘เทพไท’ ตะโกนข้ามกําแพงถึงกรมคุก ยื่นอภัยโทษถึงไหนแล้ว จํานวน ๑ ชุด
โดยรายละเอีดตามที่หนังสือพิมพ์แนวหน้าได้นําเสนอข่าวกรณี น.ช.เทพไท เสนพงศ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ทําหนังสือยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล ตั้งแต่วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖ จนถึงบัดนี้ยังไม่ทราบถึงความคืบหน้า ที่กรมราชทัณฑ์ได้ดําเนินการและไม่มีคําตอบ หรือคําชี้แจงจาก กรมราชทัณฑ์แต่ประการใด ซึ่งผิดกับกรณีของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ และได้ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ กรมราชทัณฑ์ได้ ใช้เวลาดําเนินการเพียง ๒ วันเท่านั้น ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
ข้าพเจ้า นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ขอเรียนสอบถาม ข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวข้างต้น ดังนี้
๑. กรมราชทัณฑ์มีหลักเกณฑ์การยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลของนักโทษ
๒. กรณี น.ช.เทพไท เสนพงศ์ เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ ๑ หรือไม่อย่างไร ได้ยื่นเมื่อไหร่และผลการ ปฏิบัติงานถึงขั้นตอนใด
๓. ปัจจุบันนักโทษทั่วประเทศมีทั้งสิ้นกี่ราย แยกเป็นคดีแต่ละคดีจํานวนเท่าไร มีการยื่นขอ พระราชทานฎีกาอภัยโทษทั้งสิ้นกี่ราย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดําเนินการตามกฎหมาย ผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ ข้าพเจ้าและประชาชนทราบด้วยเพราะเป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ
จักขอบพระคุณยิ่ง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้มีหนังสือตอบกลับ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เรื่อง แจ้งข้อมูลเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษและข้อมูลสถิตินักโทษเด็ดขาดของกรมราชทัณฑ์ อ้างถึงหนังสือฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ชี้แจงข้อมูลการทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษและข้อมูลสถิตินักโทษเด็ดขาดตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์
ว่าการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล (เฉพาะราย) เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 179 ซึ่งบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการขอพระราชทานอภัยโทษ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่มาตรา 259 ถึงมาตรา 261 บัญญัติให้ ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมก็ได้
กรณีของผู้ต้องโทษรายที่ท่านสอบถาม เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษจำคุก ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วจึงสามารถทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ โดยยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผ่านทางผู้บัญชาการเรือนจำได้ โดยกรมราชทัณฑ์ ได้รับเรื่องราวทูลเกล้าฯ ดังกล่าว และได้ประมวลข้อเท็จจริงพร้อมจัดทำหนังสือเสนอพิจารณาตามลำดับต่อไปแล้ว ก่อนได้รับหนังสือสอบถามจากท่าน