วันจันทร์, กันยายน 30, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนจาก “เอเปค” สู่ “อาเซียน” ทำไม? ไทยจึงเป็นเบอร์ 1 ในสายตาจีน

Related Posts

จาก “เอเปค” สู่ “อาเซียน” ทำไม? ไทยจึงเป็นเบอร์ 1 ในสายตาจีน

การประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 จัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วัน 15 ถึง 17 พฤศจิกายน โดยมีผู้นําจาก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม ซึ่งเขตเศรษฐกิจทั้งหมดที่เข้าร่วมในเอเปคมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) รวมกันร้อยละ 60 ของจีดีพีโลกหรือเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก และหนึ่งในผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้คือ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน

ต้องยอมรับว่า จีนมีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้ากับสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)  อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่เข้าร่วมกับเอเปคในปีค.ศ. 1991 ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่าในปีค.ศ. 2022 การนําเข้าและส่งออกของจีนกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่นๆ สูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59.7 ของการนําเข้าและส่งออกทั้งหมดของจีนในปีดังกล่าว ประเทศคู่ค้า 8 ใน 10 อันดับแรกของจีนเป็นสมาชิกเอเปค และจีนติดอันดับคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในสมาชิกเอเปค13 เขตเศรษฐกิจ

ขณะที่มูลค่าการค้าการลงทุนกับประเทศไทย การรายงานผลการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในช่วง 9 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) แม้กลุ่มนักลงทุนจีน จะลงทุนเพียง 38 ราย แต่มูลค่าการลงทุนสูงถึง 13,377 ล้านบาท ขณะที่หากดูข้อมูลการยืนขอรับส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในไทย ที่นักลงทุนทำเรื่องขอกับ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปรากฏว่าในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2566) นักลงทุนจากจีน สูงเป็นเบอร์ 1 ด้วยมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 61,526 ล้านบาท จากมากถึง 132 โครงการ  โดยลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อาทิ บริษัท บีวายดี ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ประกาศลงทุนในไทยมูลค่ากว่า 1.79 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเฟสแรกกว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิต รถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และ บริษัท GAC AION ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 6,000 ล้านบาท เป็นต้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยกลุ่มธุรกิจจีน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center: EIC) ได้จัดทำการสำรวจทิศทางการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยภายหลังโควิด-19 โดยจัดทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจีนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งที่อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนและในประเทศไทยจำนวน 170 ราย ถึงแผนการลงทุนขยายธุรกิจในประเทศไทย พบว่า นักลงทุนจีนมากกว่า 2 ใน 3 มีความสนใจที่จะขยายการลงทุนมายังประเทศไทยภายในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า ที่น่าสนใจคือราว 60% เป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน  เนื่องจากประเมินประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ อีกทั้งมีความพร้อมและอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะสามารถก้าวเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างกว้างขวาง โดยมี 2 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ 1) ความเหมาะสมของประเทศไทยเอง ทั้งในเรื่องของศักยภาพตลาดไทยรวมไปถึงทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายสนับสนุนการลงทุน ตลอดจนระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน ตั้งแต่ระดับสูงลงมาถึงระดับประชาชนทั่วไป ความเป็นมิตรและการต้อนรับเป็นอย่างดีของคนไทยทำให้คนจีนรู้สึกอบอุ่น 2) สถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศจีนกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนจีนหันมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 นครซานฟรานซิสโก ในหัวข้อ “Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies” ถึงจุดเด่นของประเทศไทยในเวทีโลกคือการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเอเปคมีความก้าวหน้าอย่างมากในปีนี้ ความพยายามผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และ ไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นๆ ในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่  รวมถึงไทยกำลังเดินหน้าโครงการ Landbridge เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย

นั่นคือส่วนสำคัญทำให้นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนในเมืองไทย ขณะเดียวกันแนวโน้มนักธุรกิจจีนกำลังปรับโครงสร้างการลงทุนในไทยจากอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง สู่การลงทุนขนาดเล็กลง มุ่งเจาะภาคอุตสาหกรรมบริการและเทคโนโลยี ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเผชิญกับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมถึงประสบการณ์จากตลาดที่มีการแข่งขันสูงในประเทศจีน จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการค้ารูปแบบใหม่ด้วยการเชื่อมเครือข่ายการเข้ามาของทุนจีน เพื่อต่อยอดธุรกิจและประสบความสำเร็จแบบ วิน วิน ทั้งคู่

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts