วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกก.4 บก.ปปป. รวบอดีต ซี 7 เรือนจำกลางนครสวรรค์ โกงเงินผู้ต้องขังกว่า 1,000 คน ร่วม 3 ล้านบาท...

Related Posts

กก.4 บก.ปปป. รวบอดีต ซี 7 เรือนจำกลางนครสวรรค์ โกงเงินผู้ต้องขังกว่า 1,000 คน ร่วม 3 ล้านบาท ทำมาตั้งแต่ปี’ 56 รวม 145 ครั้ง  หลบหนีซุกลิสซิ่งเมืองกำแพงเพชร นำตัวส่งศาลทุจริต ภาค 6 พิษณุโลก

ด้วยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2556 ได้มีเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางนครสวรรค์ ระดับชำนาญการ( ซี7 ) โกงเงินผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งเงินฝาก และเงินสวัสดิการร้านค้า ไปจำนวนกว่า 3 ล้านบาท โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย เชิดเงินไปหลายหน ตรวจสอบพบกว่า 145 ครั้ง รับเอาเงินไปใช้จนหมดตัว รู้แก่ใจดี จนปัจจุบันต้องมาซุกตัวทำงานอยู่ลิสซิ่งแห่งหนึ่งใจกลางเมืองกำแพงเพชร หลบหนีหมายจับกว่า 10 ปี

พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผกก.4 บก.ปปป.) พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาในกรณีดังกล่าวนี้ เนื่องจากได้รับประสาน จากสำนักงาน ป.ป.ท. มาอีกส่วนหนึ่งว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนีตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริต ภาค 6

ต่อมาวันที่ 26 ธ.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปปป. นำโดย พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. และ พ.ต.ต.กิตติกร วงศ์สุนทรทรัพย์ สว.กก.4 บก.ปปป. ได้ให้ทีมงานสืบสวนติดตามจนพบว่านางมทิรา อายุ 45 ปีผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ที่ จ. 116/2566 ลง 27 ต.ค.2566 อดีตเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว หลบหนีซุกซ่อนอยู่ที่บริษัทลิสซิ่ง (รับจำนำรถ) แห่งหนึ่งใจกลางเมืองกำแพงเพชรจริง หลบหนีมากว่า 10 ปี จึงได้นำทีมชุดจับกุมจึงบุกรวบหน้าลิสซิ่งดังกล่าว แสดงหมาย ยืนยันตัวบุคคลชัดเจนแล้วรับสารภาพว่าเป็นบุคคลตามหมายจริง และไม่เคยถูกจับในคดีนี้ เป็น จพง.มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสารกระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น เป็น จพง.มีหน้าที่ซื้อหรือทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้น เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต เป็น จพง.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตาม ปอ.157 ก่อนนำตัวส่งดำเนินการตามกฎหมาย ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 6 จังหวัดพิษณุโลกต่อไป
โดยเรือนจำกลางนครสวรรค์ ถือเป็นเรือนจำที่มีขนาดใหญ่ มีผู้ต้องขังกว่า 3,000 ราย โดยส่วนมากเป็นคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และโดยปกติผู้ต้องขังจะสามารถใช้เงินภายในเรือนจำได้วันละไม่เกิน 500 บาทเท่านั้น ซึ่งการรับฝากเงิน และเก็บเงินสวัสดิการของผู้ต้องขังนี้ ญาติของผู้ต้องขังอาจนำเงินฝากไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหารายนี้ก็ปลอมเอกสารใบเสร็จให้ทุกครั้ง ใบจริงให้กับญาติผู้ต้องขังเขียนตรงตามที่ฝาก แต่สำเนาทำปลอมขึ้นให้น้อยกว่าจำนวนจริงเพื่อจะได้นำเงินยักยอกเข้ากระเป๋าตนเอง ยากแก่การตรวจสอบจากบุคคลภายนอก เพราะญาติของผู้ต้องขังมีโอกาสน้อยในการที่จะได้พบผู้ต้องขัง เพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น จึงไม่ทราบว่าชีวิตความเป็นอยู่และการใช้เงินภายในเรือนจำของนักโทษที่แท้จริงเป็นอย่างไร จึงเปิดช่องให้ผู้ต้องหานี้ ใช้อำนาจหน้าที่ของตนยักยอกเอาทรัพย์สินส่วนนี้ไปใช้จนหมด ทราบว่าเอาไปเล่นการพนันบอลออนไลน์ได้อย่างชะล่าใจ เนื่องจากตนรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินมานานกว่า 20 ปี จนเกิดความชำนาญและเห็นช่องว่างในการทุจริต ตกแต่งบัญชีซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นอยู่ภายในเรือนจำของผู้ต้องขัง ซึ่งในส่วนนี้เป็นความเสียหายเพียงแค่ส่วนที่ตรวจสอบพบเท่านั้น และอาจมีอีกหลายครั้งที่ตบตาจนแนบเนียนยากแก่ตรวจสอบ

พ.ต.อ. ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ กล่าวว่า ผู้ต้องหารู้อยู่แก่ใจดีว่ามีการติดตามตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงได้หลบหนีมาตลอด และบอกกับทางบ้านของตนเองว่า หากมีเอกสารหมายเรียก ไม่ต้องติดต่อมาหาตนเด็ดขาด เพื่อตัดช่องทางไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดตามได้ แต่ก็ไม่รอดพ้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ซึ่งเชื่อว่ายังมีกรณีดังกล่าวในหน่วยงานราชการอีกหลายแห่งที่อาจมีการดำเนินการในลักษณะนี้ แต่ยังตรวจสอบไม่พบ โดยทาง บก.ปปป. จะได้ดำเนินการสืบสวนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลจับกุมและยึดทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการต่อไป

จึงขอเตือนภัยแก่บริษัทเอกชนทั่วไป ให้เฝ้าระวังตรวจสอบประวัติผู้ที่จะเข้าสมัครทำงานให้ดี เพราะบุคคลที่มีหมายจับเกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐอีกหลายรายยังคงลอยนวล และออกมาทำงานการเงินให้กับเอกชนทั่วไปได้อยู่ หากไม่ตรวจสอบประวัติให้ดี อาจก่อความเสียหายต่อบริษัทซ้ำอีก เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำบัญชีเพื่อปกปิดความผิดมาแล้ว
จึงขอประชาสัมพันธ์ หากพบมีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการเชิญชวนให้ท่านหรือพี่น้องประชาชนกระทำการในลักษณะนี้ หรือให้ฉ้อโกงเพื่อรับส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย ขอให้ท่านแจ้งมายังกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โทร. 02-1919191 สายด่วน ป.ป.ช. 1205 (สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ), สายด่วน ป.ป.ท. 1206 (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และ สายด่วน ป.ป.ง. โทร. 02-2193600 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts