นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไปแองโกลามิได้เป็นสมาชิกขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกอีกแล้ว การขอเพิ่มโควตาการผลิตน้ำมันไม่สำเร็จคือจุดเปลี่ยน นอกจากนั้น การตัดสินใจถอนตัวยังเกิดขึ้น หลังจากชาติในทวีปแอฟริกาแห่งนี้ได้มีการลงนามข้อตกลงขยายความร่วมมือกับจีน
นาย เตเต อันโตนิโอ ( Tete Antonio ) รมว. กระทรวงการต่างประเทศของแองโกลากล่าวยกย่องระหว่างเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อลงนามข้อตกลงเมื่อเดือนนี้ว่า จีนเป็นพันธมิตรสำคัญที่ผ่านการพิสูจน์แล้วของแองโกลา
นักวิเคราะห์มองว่า การถอนตัวจากโอเปกอาจเป็นโอกาสให้จีนได้เพิ่มการลงทุนในภาคการผลิตน้ำมันและภาคอื่น ๆ ของแองโกลา ซึ่งต้องการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการผลิตน้ำมันเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยแองโกลาเรียกร้องให้จีนเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตกาแฟ แบตเตอรี และพลังงานแสงอาทิตย์
แองโกลามีความสัมพันธ์กับปักกิ่งมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ โดยหลังจากสงครามกลางเมืองดำเนินมานาน 25 ปีได้ยุติลงเมื่อปี 2545 แองโกลาก็ขอกู้ยืมเงินจากจีนเพื่อนำมาฟื้นฟูประเทศ และขายไฮโดรคาร์บอนให้แก่ชาติซึ่งใช้พลังงานมากที่สุดในโลกแห่งนี้ โดยแองโกลายังเคยเป็นผู้ขายน้ำมันให้จีนรายใหญ่สุดในช่วงสั้นๆ เมื่อปี 2549 อีกด้วย
ที่ผ่านมาบริษัทของจีนเข้ามาลงทุนในแองโกลาในภาคพลังงาน การขนส่งและด้านการดูแลสุขภาพ โดยในปีนี้จีนยังเข้ามาลงทุน 250 ล้านดอลลาร์ผ่านพาวเวอร์ไชน่า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านวิศวกรรมโยธา เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม จากข้อมูลของสถาบันคลังสมองอเมริกันเอ็นเตอร์ไพรส์
นอกจากนั้น จีนจะอนุญาตให้ 6 ชาติในแอฟริการวมถึงแองโกลาเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่แดนมังกร โดยร้อยละ 98 ของสินค้า ที่นำเข้าจากชาติเหล่านี้ จะไม่ถูกจัดเก็บภาษี เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 นี้เลย ซึ่งเป็นวันคริสต์มาสเป็นต้นไป
ที่มา : รอยเตอร์