กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง- (MLC) เป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงประเทศลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำล้านช้างของจีน เพื่อเป็นต้นแบบความร่วมมือการพัฒนาร่วมกันและเอื้อประโยชน์แก่ 6 ประเทศลุ่มน้ำทั้งสองสายคือ (จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ที่มีเป้าหมายก้าวไปสู่ความทันสมัยและพัฒนา กลมกลืนด้วยสันติภาพของปัจจุบันและอนาคต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน ครอบคลุมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไม่ปล่อยให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค ความมีชีวิตชีวา และเวทีนี้คือจุดเชื่อมต่อสำคัญของการเปิดนโยบาย “ฟรีวีซ่า” ไทย-จีน แบบถาวร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567
โดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวว่า เป็นผลมาจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 – 19 ต.ค.2566 และได้หารือกับ นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยขอให้ทั้งสองฝ่ายมีการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาซึ่งกันและกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 6 – 7 ธ.ค.ตนได้ไปร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่กรุงปักกิ่ง และได้หารือทวิภาคีกับนายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน โดยหยิบยกเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้กับคนไทย ซึ่ง นายหวัง อี้ เห็นชอบด้วย จึงได้เสนอขอตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายมาหารือกัน จากนั้นวันที่ 21 – 22 ธ.ค.2566 คณะทำงานฝ่ายไทย นำโดยรองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ได้เจรจากับรองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่กรุงปักกิ่ง และเห็นพ้องที่จะให้ความตกลงฯมีผลใช้บังคับภายในวันที่ 1 มี.ค.2567 นี้
โดยสาระสำคัญร่างความตกลงฯ ระบุให้ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยและผู้ถือหนังสือเดินทางกึ่งราชการ และหนังสือเดินทางธรรมดาของจีน สามารถพำนักได้ไม่เกิน 30 วัน และรวมระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ภายในช่วงเวลา 180 วัน ยกเว้นกรณีการพำนักถาวร การทำงาน การศึกษา กิจกรรมด้านสื่อ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตล่วงหน้า
เท่ากับว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ไปกลับทั้ง 2 ประเทศ ไม่ต้องมีวีซ่าระหว่างกันและกัน แบบถาวร เป็นการยกระดับความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จมาจากเวทีการประชุม “แม่โขง-ล้านช้าง” นั่นเอง