“….อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอดีตนั้นได้ชื่อว่าเป็นกลไกหลักหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเลยก็ว่าได้ แต่วันนี้กลไกลหลักดังกล่าว แทบจะกล่าวได้ว่าเกือบจะเป็น “เป็ดง่อย” ไม่รู้ว่าจะเดินหน้ากันไปยังไงดี เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ยังคง“ห้ำหั่น”ขัดแย้งภายในองค์กรจนไม่เป็นอันทำงานทำการกันแล้ว กลายเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่เป็น “อิสระ”ที่ไม่มีใครฟังใคร ก่อนปีใหม่ 4 กสทช. ถึงกับออกแถลงการณ์ร่วมถึงปมปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยยืนยัน นั่งยันว่า 4 กสทช.ไม่ได้เป็นผู้ก่อ แต่มาจากศ. นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เองที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวง เพราะไม่ยอมรับการบริหารงานในรูปของคณะกรรมการที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ไม่ใช่เป็นอำนาจของประธาน กสทช.หรือ กสทช.คนใดคนหนึ่ง จนทำให้งานต่างๆ ในองค์กร กสทช.ไปไม่เป็น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพภายในองค์กร กสทช.ที่ยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีการฟ้องร้องกันอิรุงตุงนัง เส้นทางการขับเคลื่อนองค์กร กสทช.ในเวลานี้แทบจะกล่าวได้ว่า “ไปไม่เป็นจริงๆ” จนไม่เป็นอันได้พิจารณาอะไรกันแล้ว เมื่อไหร่จะ “ไขก๊อก” กันไปเสียทีเท่านั้นแหล่ะ!!! และถึงขั้นที่เริ่มมีการตั้งคำถามกันแรงๆ ว่า กสทช.มีไว้เพื่ออะไร???…”
ห้วงที่เศรษฐกิจไทยปี 2567 กำลังอยู่ในสภาพ “หมาหลงบนทางด่วน” มองไปทางไหนก็มีแต่ “ริบหรี่” จนป่านนี้รัฐบาลยังใม่สามารถทำคลอดงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ออกมาได้ ต้องร้องเพลงรอไปอย่างน้อย 3-4 เดือนจากนี้ หรือน่าจะเริ่มปีงบประมาณกันได้หลังเดือนพฤษภาคมไปแล้ว
ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องฝากผีฝากไข้ไว้ที่การลงทุนของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเป็นหลัก แต่เมื่อสแกนลงไปดูที่ภาคประชาชนวันนี้กล่าวได้ว่า ยังคงอยู่ในช่วง “หืดจับ หายใจไม่ทั่วท้อง” กันถ้วนหน้า ประชาชนคนไทยเองต่างยังคงตั้งหน้าตั้งตารอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเลต” คนละ 10,000 บาท ที่ยังคงต้องลุ้นกันไปอีกเฮือกใหญ่ว่ารัฐบาลจะทำคลอดกันออกมาได้หรือไม่?
เพราะหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งเรื่องกลับมาให้รัฐบาลพิจารณากรณีจะขอออก พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านเพื่อดำเนินโครงการนั้น นัยว่าคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตอบกลับมายังรัฐบาลนั้น แทบจะเป็นปมปริศนาที่ไม่รู้ “นายกฯ เศรษฐา” จะไขคำตอบได้หรือไม่?
ความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยามนี้ จึงอยู่ที่การลงทุนของภาคเอกชนจะทำได้แค่ไหน ยิ่งในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วยแล้ว ในอดีตนั้นได้ชื่อว่าเป็นกลไกหลักหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเลยก็ว่าได้
แต่วันนี้กลไกลหลักดังกล่าว แทบจะกล่าวได้ว่าเกือบจะเป็น ”เป็ดง่อย” ไม่รู้ว่าจะเดินหน้ากันไปยังไงดี เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในองค์กรกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมนั้นยังคง “ห้ำหั่น”ขัดแย้งภายในองค์กรจนไม่เป็นอันทำงานทำการกันแล้ว กลายเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่เป็น “อิสระ”ที่ไม่มีใครฟังใครกันแล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ก่อนเคาท์ดาวน์ปีใหม่ไม่กี่วัน 4 กสทช. ถึงกับออกแถลงการณ์ร่วมถึงปมปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยยืนยัน นั่งยันว่า 4 กสทช.ไม่ได้เป็นผู้ก่อ แต่มาจากศ. นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. เองที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวง เพราะไม่ยอมรับการบริหารงานในรูปของคณะกรรมการที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ไม่ใช่เป็นอำนาจของประธาน กสทช.หรือ กสทช.คนใดคนหนึ่ง จนทำให้งานต่างๆ ในองค์กร กสทช.ไปไม่เป็น
โดย 4 กสทช.เสียงข้างมาก ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ร่ายยาวถึงพฤติกรรมการบริหารงานของประธาน กสทช.ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ไล่ดะมาตั้งแต่
1. การที่ประธาน กสทช.พยายาม ”รวบอำนาจ” ในการบริหารจัดการสำนักงาน กสทช.ไว้แต่เพียงผู้เดียว เห็นได้จากกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ที่เป็นฟันเฟืองหลักของการขับเคลื่อนองค์กร ที่ประธาน กสทช.รวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการทั้ง “ชงเอง-ตั้งเอง” ไม่เกรงใจใคร
2. การที่ ประธาน กสทช.ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ทั้งๆ ที่ตัวเองร่วมประชุมและลงมติในการประชุมนั้นด้วย เช่น มติ กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 66 ที่มีมติให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการเลขาธิการ กสทช. จากนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล มาเป็น นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ แต่ภายหลัง ประธาน กสทช.เองกลับไม่ยอมลงนามในคำสั่งแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ตามมติที่ประชุม
3. การที่ประธาน กสทช.ประวิงเวลา ไม่นำวาระปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช.เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ทั้ง ๆ ที่ กสทช. มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการปรับปรุงโครงสร้าง และทำให้รักษาการเลขาธิการ กสทช.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ถือโอกาสออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารภายในสำนักงาน กสทช. โดยไม่มีอำนาจ
4. ไม่ยอมให้กรรมการ กสทช.พิจารณางบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช.ประจำปี 2567 ตามระเบียบ กสทช.ว่าด้วยงบประมาณที่ กสทช. มีมติเห็นชอบปฏิทินงบประมาณที่กำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ชัดเจนว่า จะต้องเสนอให้ที่ประชุมกรรมการ กสทช. เห็นชอบ ก่อนที่จะส่งไปยังคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการดีอีเอส) แม้ว่ากรรมการ กสทช. 4 คนจะทักท้วงแล้ว แต่ก็ไม่ฟัง
5.ไม่บรรจุวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณา ทำให้ภารกิจต้องหยุดชะงักในหลายเรื่องเช่น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 (ประกาศฯ ปี 2561) และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กทช.ที่เคยสร้างปัญหาในการตีความกรณีควบรวมธุรกิจมาก่อนหน้า
และ 6.กำหนดนัดวันประชุม กสทช. เอง โดยไม่ปรึกษา กสทช. และแจ้งกำหนดวันประชุมล่วงหน้ากระชั้นชิด รวมถึงการนัดประชุมในวันที่ทราบอยู่แล้วว่ากรรมการบางคนติดภารกิจ
“จากพฤติกรรมของประธาน กสทช. ดังที่กล่าวมา ทำให้การดำเนินงานของ กสทช. ในลักษณะของคณะกรรมการมีความติดขัด ซึ่งมิใช่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวแต่ประการใด เพียงแต่ กสทช. 4 คน ยืนยันว่าต้องปฏิบัติภารกิจ ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ด้วยความถูกต้อง คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ มิใช่ตามความสะดวกหรือความพึงพอใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ”
สะท้อนให้เห็นถึงสภาพภายในองค์กร กสทช.ที่ยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีการฟ้องร้องกันอิรุงตุงนังจนไม่รู้ใครเป็นใคร หรือใครปกป้องผลประโยชน์ให้แก่องค์กร หรือผลประโยชน์สาธารณะกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ ทำให้เส้นทางการขับเคลื่อนองค์กร กสทช.ในเวลานี้แทบจะกล่าวได้ว่า”ไปไม่เป็น” จนไม่เป็นอันได้พิจารณาอะไรกันแล้ว
เห็นได้จากกรณีล่าสุดที่องค์กรเพื่อผู้บริโภค และประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออกโรงสับเรื่องของคุณภาพบริการมือถือ และอินเตอร์เน็ตภายหลัง กสทช.ไฟเขียวดีลควบรวม ”ทรู-ดีแทค” ที่มีการหลอมรวมกันเบ็ดเสร็จตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา ซึ่งพบว่าคุณภาพอินเทอร์เน็ต และสัญญาณมือถือลดลง ไม่สมราคา แถมยังมีการดอดปรับขึ้นค่าบริการผ่านแพ็คเกจที่ผู้ให้บริการ ”มัดมือชก” เอากับผู้บริโภคอีกด้วย
แต่แทนที่ สำนักงาน กสทช.จะออกโรงตรวจสอบอย่างถึงพริกถึงขิง ก็กลับชักแถวออกมาแถลงข่าวปกป้องค่ายมือถือที่ตกเป็นข่าวอย่างออกหน้าออกตา จนทำเอาผู้คนในสังคมพากันกังขา ตกลงองค์กร กสทช.ทำหน้าที่อะไรกันแน่ และเมื่อมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กสทช.ซักไซร้ไล่เลียงกันอย่างถึงพริกถึงขิง ผลกลับออกมาเป็น “หนังคนละม้วน” เพราะผู้บริหารสำนักงาน กสทช.ไม่สามารถจะแสดงเอกสารหลักฐานการ “การันตี” คุณภาพบริการที่ตนเองแอ่นอกปกป้องมาก่อนหน้านั้นได้ จนบอร์ด กสทช.ตีกลับให้กลับไปรวบรวมข้อมูลมาสนอใหม่
เห็นความขัดแย้งภายในองค์กร กสทช.ภายใต้บอร์ดที่มี ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานแล้ว ยังนึกไม่ออกเลยว่า ประชาชนคนไทยและผู้บริโภค จะคาดหวังอะไรได้จากองค์กรนี้ได้อีก องค์กรที่มีเม็ดเงินค่าธรรมเนียมนับหมื่นล้านที่เก็บมาจากประชาชนผู้บริโภค(ในชั้นสุดท้ายนั่นแหล่ะ) ที่เคยเป็นฟันเฟืองหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
แต่วันนี้เม็ดเงินเหล่านั้นถูกใช้ไปอย่างเหมาะสม “คุณค่า” หรือไม่ ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี เพราะเสียงสะท้อนผ่านสื่อเป็นรายวันที่ออกมานั้น สำหรับประชาชนผู้บริโภคแล้ว ก็ได้แต่ปลงและรอว่า เมื่อไหร่จะ “ไขก๊อก” กันไปเสียทีเท่านั้นแหล่ะ!!!
และถึงขั้นที่เริ่มมีการตั้งคำถามกันแรงๆ ว่า กสทช.มีไว้เพื่อ???
#สืบจากข่าว รายงาน