“….แต่กับเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังหารือถึงการออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านเพื่อดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ “ดิจิทัล วอลเลต” ที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลโดยตรงแต่ก็กลับมีคำวินิจฉัยแบบ “ขี่ม้ารอบค่าย” ถามมา-ตอบไปแบบ “อับดุล” ไปซะงั้น เรียกได้ว่าคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่าก็คือโยนเผือกร้อนกลับไปให้รัฐบาล “วัดดวง” กันเอาเองว่าจะลุยไฟเดินหน้าโครงการดังกล่าวหรือไม่? *เรียกได้ว่า ทุกอย่างปล่อยให้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไป “วัดดวง”กันเอง* *ช่างแตกต่างจากกรณีดิวควบคุม ธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ True Dtac ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าไปเผือก “ผ่าทางตัน” ให้ดีแท้ จนอดคิดไม่ได้ว่า ตกลงแล้ว หน่วยงานนี้มีหน้าที่อะไรกันแน่ ได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนหรือ ผลประโยชน์ของเอกชนกันแน่!!!*…”
*ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด?*
*จากดีลควบรวมทรู-ดีแทค…ถึงดิจิทัล วอลเลต*
*เมื่อกฤษฎีกา “เผือก” เรื่องชาวบ้าน-เมินงานตนเอง*
*ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์*
กรณี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งคำวินิจฉัยชี้ขาด กรณีรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะขอออก พ.ร.บ.เงินกู้เงิน 500,000 ล้าน เพื่อมาดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน “ดิจิทัล วอลเลต”ว่าทำได้หรือไม่?
โดยมีรายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ฟังธงว่าทำได้หรือไม่ เพียงแต่อธิบายรายละเอียดในข้อกฎหมายในการที่รัฐจะตรา พ.ร.บ.-หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ที่ว่านี้จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยเฉพาะต้องพิจารณาว่าสถานการณ์วิกฤตจนไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ รวมทั้งยังต้องประเมินความคุ้มค่าของโครงการ ต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยอมรับว่าได้รับคำตอบมาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นหลายประการ ซึ่งจากนี้เราคงต้องฟังความคิดเห็นอีกหลายฝ่าย อีก 2 วันคงจะมีการแถลงออกมาว่าขั้นตอนต่อไป “เบื้องต้นไม่มีข้อติดขัดอะไร กฤษฎีกามามีความเห็นว่าทำได้ แต่มีข้อสังเกตว่าจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น สถานการณ์วิกฤตไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ มาตรา 57 ความคุ้มค่าของโครงการต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านจะต้องมาดูว่าจะทำกลไกอย่างไรเพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อนจากประชาชน หรือเสียงสะท้อนจากส่วนงาน….”
*อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังเล่นเกมปริศนา หรือ “วางยา” รัฐบาลหรือไม่?*
เหตุใดจึงเลือกที่จะชี้แจงเพียงรายละเอียดของข้อกฎหมาย กลับไปให้รัฐบาลพิจารณาเอาเองว่า จะออก พ.ร.บ.(พรก.)เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ “ดิจิทัล วอลเลต” ที่ว่านี้หรือไม่ โดยไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดลงไปว่า สภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมที่เอื้อให้รัฐทำได้หรือไม่ อย่างไร เหตุผลในการตรา พ.ร.บ.(พรก.)เงินกู้ 5 แสนล้านดังกล่าวขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สอดคล้องกับมาตรา 53 และมาตรา 57 หรือไม่อย่างไร
อย่างน้อย ก็เพื่อเป็น “เกราะกำบัง” เป็นกำแพงหลังให้รัฐสามารถจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพื่อให้การดำเนินนโยบายของรัฐ เป็นไปด้วยความรอบคอบ ด้วยบทเรียนในอดีตอันหลากหลายของนโยบายของรัฐบาลที่มีการดำเนินการไปแม้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด อย่างการดำเนินนโยบาย “หวยบนดิน” ของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในอดีต แต่สุดท้ายกลับต้องจบลงด้วยการที่นายกฯ และ รมต.ถูกลากขึ้นเขียงดำเนินคดีกันกราวรูด
ทุกฝ่ายจึงคาดหวังคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐ น่าจะชี้ทางสว่างแผ้วทางให้กับการดำเนินโครงการนี้ได้ แต่เมื่อกฤษฎีกาส่งคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ก็ทำเอารัฐบาลได้แต่สะอึก ต้องไปวัดดวงกันเอาเองว่าหากลุยไฟดำเนินนโยบายไปในอนาคต
*ผิดกับ “ดีลควบรวมธุรกิจ” ครั้งประวัติศาสตร์ของบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ก่อนหน้า “ทรู-ดีแทค” ที่มีการดำเนินการควบรวมกันไปในช่วงปลายปี 2565 ก่อนส่งเรื่องมายัง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)”*
โดยที่ องค์กรกำกับดูแล กสทช. ที่แม้จะตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ไม่รู้กี่สิบชุด ว่าจ้างทีปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำประชาพิจารณ์ และขอความเห็นจากที่ปรึกษากฎหมายชั้น “บรมครู”ของ กสทช.เอง แต่ก็กลับไม่สาสมารถจะวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่า ตนเองมีอำนาจที่จะพิจารณาอนุมัติ-หรือไม่อนุมัติดีลควบรวมธุรกิจที่ว่านั้นได้
ทั้งที่ทุกฝ่ายต่างยืนยัน นั่งยันว่า กสทช.มี “อำนาจ” ที่จะพิจารณายับยั้งดีลควบรวมธุรกิจดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะจะส่งผลกระทบต่อสภาพการแข่งขันในตลาดจากการที่เหลือผู้ให้บริการในตลาดเพียง 2 รายใหญ่เท่านั้น แทบจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปล่อยให้เกิดสภาพการณ์เช่นนี้
แต่กระนั้น กสทช.ก็เลือกที่จะทำเรื่องหารือข้อกฎหมายไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีดีลควบรวมธุรกิจดังกล่าวว่าทำได้หรือไม่ ขัดแย้งบทบัญญัติกฎหมายใดหรือไม่อย่างไร? ก่อนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะ “เอื้ออาทร” ส่งผลวินิจฉัยชี้ขาดมายัง กสทช.
ท่ามกลางความงวยงง ท่ามกลางข้อกังขาของผู้คนในสังคม ตลอดจนคณาจารย์ด้านกฎหมายที่ต่างก็เห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นหรือเสนอแนะทางออกใด ๆ ต่อกรณีดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ เพราะตามกฎหมายนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐที่ต้องคอยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐ หาได้รวมไปถึงองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะอย่าง กสทช.นี้
แต่กระนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกากลับ “เผือก” ไปผ่าทางตันดีลควบรวมฯ จนวันนี้ แนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แนะแบบ “ตีกรรเชียง เลี่ยงบาลี” ตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัยให้ กสทช.ไฟเขียวดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้กลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้องค์กร กสทช. แตกโพล๊ะ ยังคงถูกฟ้องร้องอิรุงตุงนัง และนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในองค์กร กสทช.อย่างหนัก จนกลายเป็นองค์กร “เป็ดง่อย” อยู่ในปัจจุบัน
แต่กับเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังหารือถึงการออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านเพื่อดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ “ดิจิทัล วอลเลต” ที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลโดยตรงแต่ก็กลับมีคำวินิจฉัยแบบ “ขี่ม้ารอบค่าย” ถามมา-ตอบไปแบบ “อับดุล” ไปซะงั้น
เรียกได้ว่าคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่าก็คือโยนเผือกร้อนกลับไปให้รัฐบาล”วัดดวง”กันเอาเองว่าจะลุยไฟเดินหน้าโครงการดังกล่าวหรือไม่? หากในท้ายที่สุด รัฐบาล เกิดลุยไฟ ดำเนินการ ตรา พรบ.(พรก.)เงินกู้ดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตาม นโยบายที่พรรค ได้หาเสียงเอาไว้ จนถึงขั้นถูกบรรดานักร้อง “ขาประจำ” ลุกขึ้นมาฟ้องหัว รัฐบาลก็ไม่อาจจะโทษหรือโยนกลองมาเป็นความคิดเห็นของ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้
*เรียกได้ว่า ทุกอย่างปล่อยให้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไป “วัดดวง” กันเอง*
*ช่างแตกต่างจากกรณีดิวควบคุม ธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ True Dtac ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าไปเผือก “ผ่าทางตัน” ให้ดีแท้ จนอดคิดไม่ได้ว่า ตกลงแล้ว หน่วยงานนี้มีหน้าที่อะไรกันแน่ ได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนหรือ ผลประโยชน์ของเอกชนกันแน่!!!*
#สืบจากข่าว รายงาน