วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. แนะ ตร. กำชับเรื่องการแจ้งผลคดีให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบอย่างรวดเร็วตามกฎหมาย หลังพบการละเลยส่งผลกระทบต่อประชาชน

Related Posts

กสม. แนะ ตร. กำชับเรื่องการแจ้งผลคดีให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบอย่างรวดเร็วตามกฎหมาย หลังพบการละเลยส่งผลกระทบต่อประชาชน

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ระบุว่า เมื่อปี 2543 ผู้ร้องถูกดำเนินคดีในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ต่อมาในปี 2547 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง (สภ. คลองหลวง) จังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกร้อง) ไม่แจ้งผลคดีให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบเพื่อปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องได้รับผลกระทบ เช่น ไม่สามารถขอใบอนุญาตขับรถยนต์ได้ และเสียโอกาสในการทำงาน ผู้ร้องจึงต้องติดต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตนเองเพื่อขอให้มีการปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลและได้รับการปรับปรุงข้อมูลเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ร้องเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ นอกจากนี้ มาตรา 32 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลประวัติการกระทำความผิด นั้น ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่จัดให้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาคดีอาญาทุกประเภท เว้นแต่คดีลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก รวมทั้งความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งได้เปรียบเทียบปรับแล้ว และกำหนดว่า เมื่อคดีถึงที่สุด ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานแจ้งผลคดีถึงที่สุด ส่งไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร และศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ที่ได้ส่งไปตรวจสอบประวัติ แล้วแต่กรณี โดยให้ส่งแบบรายงานแจ้งผลคดีออกจากสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน

กรณีตามคำร้อง แม้สถานีตำรวจภูธรคลองหลวงจะชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องเสียชีวิตไปแล้ว ประกอบกับระยะเวลาได้ล่วงพ้นมาเป็นเวลานาน จึงไม่สามารถหาเอกสารเพื่อนำมาตรวจสอบให้เป็นที่แน่ชัดได้ว่า ได้แจ้งผลคดีถึงที่สุด หรือคำสั่งยุติการดำเนินคดีของพนักงานอัยการให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบหรือไม่ ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าข้อมูลประวัติการกระทำความผิดของผู้ร้องเพิ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันหลังจากที่ผู้ร้องพ้นโทษจากเรือนจำกลางลพบุรีและไปติดต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อขอให้ปรับปรุงข้อมูลด้วยตนเอง จึงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ ตร. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุตามคำร้อง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากหนังสือ สภ. คลองหลวง ที่ ตช 0016.5(12)/6363 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ที่แจ้งผลคดีของผู้ร้องให้เรือนจำกลางลพบุรีทราบว่า พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ แสดงให้เห็นว่า ผู้กำกับการ สภ. คลองหลวงในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนทราบอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อปี 2558 ว่าคดีของผู้ร้องเสร็จสิ้นแล้ว และต้องมีหน้าที่ในการติดตามและเร่งรัดให้มีการแจ้งผลคดีไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อให้ปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องให้เป็นปัจจุบัน ตามระเบียบ ตร.ฯ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า การที่ผู้กำกับการ สภ. คลองหลวง ไม่แจ้งผลคดีถึงที่สุดของผู้ร้องให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และไม่ติดตาม เร่งรัดให้มีการแจ้งผลคดีไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นเหตุให้ข้อมูลของผู้ร้องถูกจัดเก็บไว้ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรและถูกร้องขอจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบประวัติ ทั้งที่ผลคดีของผู้ร้อง พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งยุติการดำเนินคดีอาญากับผู้ร้องแล้ว อันอยู่ในหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการของกองทะเบียนประวัติอาชญากรจะพิจารณาคัดเลือกแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือและเอกสารที่เกี่ยวข้องแยกออกจากสารบบหรือฐานข้อมูลประวัติอาชญากร ย่อมถือว่าเป็นการละเลยไม่จัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมภายในหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ร้องได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะให้ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ใช้ข้อมูลตามรายงานฉบับนี้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง กรณีไม่แจ้งผลคดีไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อให้ผู้ร้องได้รับการปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำชับ ติดตาม และเร่งรัดเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ให้ปฏิบัติตามระเบียบ ตร. ว่าด้วยประมวลระเบียบตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 เพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts