นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องสองรายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และกุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน โดยพื้นที่อุทยานฯ ทับที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ ไม่มีการนำแผนที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติมาชี้แจงต่อประชาชน และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน จึงขอให้ตรวจสอบ
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เมื่อปี 2535 มีการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน – แม่วาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขนิน และป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2536 รับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (อุทยานแห่งชาติออบขาน) โดยมีการปรับแก้แนวเขตและกันพื้นที่ทำกินและพื้นที่สาธารณประโยชน์ของประชาชน พื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานอื่น คงเหลือเนื้อที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน 147,986 ไร่ ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 อุทยานแห่งชาติออบขานได้สำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิงร่วมกับชุมชนและมีการกันพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และที่สาธารณประโยชน์ เนื้อที่ 4,329 ไร่ ออกจากเขตเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน อย่างไรก็ดีภาคประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ยังมีความประสงค์ให้กันพื้นที่ป่าอีก 24,537 ไร่ ออกด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณและบางส่วนเป็นไร่หมุนเวียน
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าการประกาศให้พื้นที่บ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ได้มีการสำรวจที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ไร่หมุนเวียน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงร่วมกับชุมชน และปรับปรุงเนื้อที่และรูปแผนที่ตามที่ได้สำรวจร่วมกันแล้ว แต่ยังคงเหลือพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ยังไม่ได้กันออกอีกประมาณ 24,537 ไร่ ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษาและอนุรักษ์ ฟื้นฟู วิถีชีวิตตามวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทั้งที่รัฐต้องดำเนินการส่งเสริมและคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 70 และให้สอดคล้องกับหลักการและแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วย
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขานเป็นการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพียงอำเภอละหนึ่งครั้งและใช้เวลาเพียงหนึ่งวัน ย่อมไม่เพียงพอและครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากด้วยข้อจำกัดในด้านเวลา ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีจำนวนมากยากที่จะแสดงความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลได้ครบทุกคน อีกทั้งผู้ได้รับผลกระทบตามคำร้องนี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากตัวอำเภอ การเดินทางมายังที่ว่าการอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง และเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ การแนบเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบ QR Code เป็นรูปแบบที่ยากต่อการเข้าถึงของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีข้อจำกัดในการใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและการพิมพ์เอกสาร รวมถึงอาจไม่เข้าใจถ้อยคำในเอกสารซึ่งเป็นภาษาไทยที่มีความซับซ้อน
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นว่า การกำหนดพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับซ้อนกับพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และการจัดการรับฟังความคิดเห็นต่อการประกาศอุทยานแห่งชาติฯ ยังไม่รอบด้านครอบคลุม อันเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ คุ้มครองบำรุงรักษา ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากร ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังอุทยานแห่งชาติออบขาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ให้อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน โดยนำแผนที่พื้นที่ซึ่งกันพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินของประชาชน ไร่หมุนเวียน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ป่าใช้สอย รวมถึงสถานที่ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเอกสารประกอบการประชุมซึ่งจัดพิมพ์เป็นกระดาษให้ผู้นำชุมชนนำไปตรวจสอบร่วมกับประชาชนในพื้นที่ก่อนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับหมู่บ้านในทุกหมู่บ้าน โดยที่ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ จากนั้นจึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นระดับตำบลในทุกตำบล โดยมีผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนเข้าร่วม และระดับอำเภอในทุกอำเภอ โดยมีนายอำเภอ ฝ่ายปกครองท้องที่ ตัวแทนประชาชน สื่อมวลชนท้องถิ่น และนักวิชาการเข้าร่วม ตามลำดับ โดยการรับฟังความคิดเห็นไม่ควรตั้งคำถามชี้นำ แต่ต้องให้ประชาชนได้เสนอความเห็น ข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน และข้อมูลการดูแลรักษาป่าได้อย่างอิสระ
ทั้งนี้ ให้บันทึกความคิดเห็น ข้อห่วงกังวลของประชาชน และข้อมูลการดูแลรักษาป่าโดยละเอียดเพื่อให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ รายงานข้อมูลดังกล่าวพร้อมเชิญตัวแทนผู้แสดงความคิดเห็นเข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับชุมชนบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านทรายมูล ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการเกี่ยวกับการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
“สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กสม. ได้รับแจ้งจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ว่า ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว โดยสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องนำวิธีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ไปใช้ในการจัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ การขยาย และเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า (ป่าอนุรักษ์) ทุกแห่ง” นางสาวศยามล กล่าว