“หมอปลา” พาเมีย รอง ผกก.โร่แจ้งกองปราบ ตรวจสอบดำเนินคดีแก๊งต้มตุ๋นอ้างสนิทสายวัง-บิ๊กสีกากี หลอกโอนเงิน 5.75 ล้านค่าวิ่งเต้นขึ้นเป็นผู้กำกับ
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 มี.ค. ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หมอปลา-นายจีรพันธ์ เพชรขาว , ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ , นายกฤษฎา โลหิตดี-ทนายโนบิตะ และ เฮียเปี๊ยก ภานุมาศ จิตรวศิรกุล พร้อม นางเปิ้ล (นามสมมุติ) ผู้เสียหายที่อ้างว่าถูกขบวนการหลอกลวงเงินวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับ , ตำแหน่งทางราชการได้ และหลอกขายถ้วยรางวัลดีเด่นต่างๆ โดยมีบุคคลที่อ้างเป็นหม่อมหลวง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม แม้จะมีหมายจับแต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้มอบรางวัลดังกล่าวอยู่ทุกปี
น.ส.เปิ้ล เปิดเผยว่า ตนได้รู้จักกับ นางปฏิญาพร (สงวนนามสกุล)หรือ เจ๊โหน่ง จากกลุ่มเพื่อนของสามี และก็ได้ไปทำบุญร่วมกับเจ๊โหน่งหลายครั้ง จนสนิทสนมกันมากขึ้น เจ๊โหน่งจึงทราบว่าสามีของตนรับราชการตำรวจ และในระหว่างนั้น เจ๊โหน่งได้ขอให้ทางครอบครัวของตนช่วยทำบุญกฐิน เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งตนก็ได้โอนเงินไปร่วมทำบุญด้วย หลังจากนั้นเจ๊โหน่งได้นัดสามีของตนมาที่ร้านอาหารส้มตำเจ๊ญา และได้พบกับ นางอณัญญา (สงวนนามสกุล) หรือ “เจ๊ญา” และ หม่อมหลวงจรัลพงษ์ หรือ “หม่อมแฟงค์” โดยเจ๊โหน่งได้แนะนำว่าทั้งสองคนรู้จักนักการเมือง และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอ้างด้วยว่าหม่อมแฟงค์ก็มีฐานันดรเป็นหม่อมหลวงสนิทกับคนในวังทวีวัฒนา สามารถช่วยเหลือให้สามีของตนเลื่อนตำแหน่งจากรองผู้กำกับเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจได้ แต่ก็ต้องมีการจ่ายเงิน ซึ่งตนก็ได้โอนเงินไปหลายครั้งเป็น จำนวน 5,750,000 บาท แต่เมื่อผลการแต่งตั้งออกมา ปรากฎว่าสามีของตนยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง ตนจึงขอเงินคืน ซึ่งทางเจ๊โหน่งกับหม่อมแฟงค์อ้างว่าเงินได้ให้เจ๊ญาไป ตนจึงทวงถามไปกับทางเจ๊ญา ซึ่งเจ๊ญาก็คืนเงินให้มาเพียงบางส่วน ขณะนี้ตนเดือนร้อนอย่างมาก เพราะต้องกู้เงินมา ส่วนตัวเชื่อว่ามีลักษณะทำเป็นขบวนการ และคิดว่ามีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลักษณะนี้อีกหลายราย ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน
ขณะที่ นายกฤษฎา -ทนายโนบิตะ เปิดเผยว่า ลักษณะของขบวนการนี้คือมีการตีสนิทเข้ามาชักชวนให้ทำบุญงานกฐิน ซึ่งหนึ่งในขบวนการมีบุคคลที่มีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมหลวง โดยขบวนการมักจะนัดหมายเหยื่อให้มาที่ร้านอาหารของขบวนการ และจะโน้มน้าวชักจูงเหยื่อโดยการอ้างว่ารู้จักกับคนมีชื่อเสียงในสังคม เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ และโอนเงินให้ ซึ่งครั้งแรกนั้นเหยื่อโอนเงินไปจำนวน 3,000,000 บาท จากนั้นทางขบวนการจะอ้างว่ามีผู้ที่ต้องการตำแหน่งหลายคน เพื่อให้เหยื่อจ่ายเงินเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบว่าทางขบวนการดังกล่าวยังมีความเชื่อมโยงถึงโควตาลอตเตอรี่อีกด้วย
ขณะที่ นายภาณุมาศ -เฮียเปี๊ยก เปิดเผยว่า ผู้เสียหายรายอื่นๆ มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองสารวัตร ไปจนถึงรองผู้กำกับ รวมถึงข้าราชการครูถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกัน โดยข้าราชการครูส่วนใหญ่มักถูกหลอกลวงว่าจะได้รับมอบรางวัล รวมถึงได้ลงหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายที่ร้องเรียนมายังตนประมาณ 8 ราย รวมมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท
ด้านทนายไพศาล กล่าวว่า ขบวนการดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่กัน อ้างว่ามีการแจกรางวัลให้กับบุคคลต่างๆ จากนี้จะทำการขยายผลเพิ่มเติม จึงอยากฝากไปนังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทำการตรวจสอบ ว่ามีขบวนการดังกล่าว รวมถึงมีบุคคลสำคัญต่างๆ ที่มีส่วนรู้เห็นตามคำกล่าวอ้างจริงหรือไม่ โดยในวันนี้จะให้ทางกองบังคับการปราบปรามทำการตรวจสอบ
โดยทั้งหมดได้เข้าร้อง ผบก.ป. ผ่าน พ.ต.อ.เทวินทร์ ขุนแก้ว ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.ป.เป็นผู้รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบ เบื้องต้นมอบให้พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป.ทำการสอบปากคำผู้เสียหายทันที