รมช.พาณิชย์จีน ยืนยันความสัมพันธ์แน่นแฟ้นไทย-จีน คือหุ้นส่วนทางยุทธศาตร์รอบด้าน โดยเฉพาะด้านการเกษตร พร้อมสนับสนุนต่อเนื่อง นอกจากทุเรียนแล้ว จีนยังชื่นชอบผลไม้ไทยอีกหลายชนิด ขณะที่แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยสู่จีนทะยานสูงลิ่ว
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย พบหารือกับ Mr.Li Fei รัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์จีน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายหลังการหารือ ผู้แทนการค้าเปิดเผยว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับจีน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องการจะให้ไทย-จีน ใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ระหว่างกันในการพัฒนาความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งนี้ ภายหลังที่ได้รับตำแหน่งผู้แทนการค้า เลือกที่จะเยือนประเทศจีนเป็นประเทศเเรก เพื่อเเสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เเน่นเเฟ้นระหว่างกัน
ผู้แทนการค้า กล่าวว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์จีน ยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของไทย-จีน ที่ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาตร์รอบด้าน โดยเฉพาะด้านการเกษตร โดยหวังจะได้ร่วมมือกับไทยในการพัฒนาพลังงานสะอาด พร้อมทั้งยืนยันว่าจีนจะสนับสนุนสินค้าการเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ของไทย นอกจากทุเรียนแล้ว จีนยังชื่นชอบผลไม้ไทยอีกหลายชนิด ที่เป็นที่นิยมในจีน พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์จีน ได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมมหกรรมสินค้านำเข้าจีนหรือ CIIE เพื่อรับทราบข้อมูลความต้องการสินค้าของจีน
โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นด้านการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เช่น รถไฟความเร็วสูง พลังงานสะอาด เเละยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตรให้มีคุณภาพเเละความต้องการที่มากขึ้น สินค้าเกษตรที่สำคัญในการส่งออกของไทยมายังจีนคือ ผลไม้สด เช่น ทุเรียน และสับปะรด เเละหวังให้ไทยเเละจีนร่วมมือกันด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) เพื่อมาตรฐานสินค้าเกษตร
“การนำเข้าเเละส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเเละจีนมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งไทยต้องการจะขยายตลาดไม้ไผ่จากไทยไปยังจีน จึงขอให้จีนช่วยสนับสนุน พร้อมกับฝากให้รัฐบาลจีนสนับสนุนยางพาราของไทย โดยหวังให้ประเทศจีน ซึ่งเป็นพี่ใหญ่เพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยมากขึ้นต่อไป” ผู้แทนการค้า ระบุ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ (15 ม.ค.) สำนักข่าวซินหัวารายงานภาพรวมการซื้อขายสินค้าเกษตรไทย ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2023 ที่เผยแพร่โดยหอการค้าจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหาร ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง และผลิตผลพลอยได้จากสัตว์ (CFNA) ระบุโดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรไทย ว่าจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับหนึ่งของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 มียอดการส่งออกสะสมสูงถึง 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.96 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของยอดส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย โดยทุเรียนสดของไทยถูกส่งออกขายในต่างประเทศเป็นมูลค่าเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.42 แสนล้านบาท) ซึ่ง 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.38 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้ล้วนเป็นการนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ ข้อมูลข้างต้นนี้กระตุ้นความสนใจของผู้ประกอบการและประชาชนชาวจีนและชาวไทย ทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ
ซินหัว ระบุว่า ไม่กี่ปีมานี้ สินค้าเกษตรของไทยกลายเป็น “ดาวเด่น” ในตลาดจีน เพราะความสดใหม่ รสชาติดี และมีคุณภาพสูง เนื่องจากได้รับประโยชน์จากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) การเปิดบริการทางรถไฟจีน-ลาว ระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) และการดำเนินตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างรอบด้าน ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยสู่จีนจึงได้รับการ “เหยียบคันเร่ง” ระยะทางหลายพันกิโลเมตรถูกย่นย่อด้วยช่องทางการขนส่งที่ราบรื่น ชนิดที่ว่าทุเรียนจากสวนในจังหวัดจันทบุรี สามารถถูกวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจีนได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ยอดจำหน่ายทุเรียนที่โตเร็วในปี 2023 ช่วยให้ผู้ค้าวางแผนการจัดจำหน่ายในปี 2024 ได้อย่างเต็มกำลัง ไล่ผิงเซิง ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ในกว่างซี กล่าวว่าในปี 2023 ทุเรียนไทยของบริษัทฯ ถูกส่งมาจีนราว 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยจัดจำหน่ายในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน 40 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 20.9 ตันจากปีก่อน และมียอดจำหน่าย 2.21 ล้านหยวน (ราว 11.18 ล้านบาท) ไล่เสริมว่าบริษัทฯ วางแผนนำเข้าทุเรียนไทย 3,000 ตู้ในปี 2024 โดยจะจัดจำหน่ายในกว่างซี 324 ตัน ซึ่งจะวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ จำนวน 600 แห่ง
ขณะที่รายงานอีกฉบับระบุว่ากว่างตง (กวางตุ้ง) เป็นมณฑลของจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยยอดนำเข้าช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 ที่ 3.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.22 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ในบรรดามณฑลและภูมิภาคผู้นำเข้า 10 อันดับแรก กว่างซีนำเข้าสินค้าเกษตรไทยเพิ่มมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 923 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.28 หมื่นล้านบาท)