18 มีนาคม 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์ รวบรวมตัวอย่างมาตรการที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้เพื่อรับมือกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไว้ดังนี้
ญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. กระทรวงอุตสาหกรรมใช้มาตรการฉุกเฉินชั่วคราวเพื่อผ่อนราคาขายส่งของน้ำมันเบนซินและเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยให้เงินอุดหนุนบริษัทน้ำมันเป็นเงิน 3.4 เยน (ราว 0.95 บาท) ต่อน้ำมันหนึ่งลิตร นับแต่นั้นมา ทางการญี่ปุ่นเพิ่มเงินอุดหนุนบริษัทพลังงานอีกสี่ครั้ง โดยเพิ่มครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค. โดยเพิ่มไปอยู่ที่ 25 เยน (ราว 7 บาท) ต่อหนึ่งลิตร
เมื่อวันพุธ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการต่อเวลาให้เงินอุดหนุน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดการอุดหนุนในปลายเดือนนี้ และพิจารณาลดภาษีน้ำมันเบนซินบางส่วน หากราคาน้ำมันสูงกว่า 160 เยน (ราว 44.8 บาท) นานติดต่อกันเกินสามเดือน
เกาหลีใต้
เกาหลีใต้ยืดการลดภาษีพลังงานออกไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยลดภาษีน้ำมันเบนซิน 164 วอน (ราว 4.5 บาท) ต่อลิตร ลดภาษีน้ำมันดีเซล 116 วอน (ราว 3.18 บาท) ต่อลิตร และลดภาษีก๊าซหุงต้ม 40 (ราว 1.1 บาท) วอนต่อลิตร
การยืดระยะเวลาลดภาษีพลังงานครั้งนี้ขึ้นเกิดหลังจากเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่า จะลดภาษีภายในประเทศของผลิตภัณฑ์น้ำมันดลงหนึ่งในห้า และลดกำแพงภาษีก๊าซธรรมชาติเหลวให้เหลือศูนย์ จากเดิมที่อยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์
ฟิลิปปินส์
รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินโครงการอุดหนุนเชื้อเพลิงสำหรับระบบคมนาคม โดยเพิ่มเงินอุดหนุนสองเท่าเป็น 5,000 ล้านเปโซ (ราว 8,000 ล้านบาท) ฟิลิปปินส์ยังเพิ่มงบออกคูปองเชื้อเพลิง จากเดิม 500 ล้านเปโซ เป็น 1,100 ล้านเปโซ (ราว 700 ล้านบาท) เพื่ออุดหนุนเกษตรกรและลดต้นทุนทางการเกษตร
โครงการอุดหนุนเชื้อเพลิงนี้จะดำเนินไปจนถึงเดือนหน้า ในขณะที่กระทรวงพลังงานระบุว่า กำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เช่น เพิ่มปริมาณน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลที่กักตุนสำรองไว้ จากเดิมที่กักตุนสำรองพอสำหรับ 30 วัน เพิ่มปริมาณเป็น 45 วัน และเพิ่มปริมาณกักตุนก๊าซหุงต้ม จากเดิมเจ็ดวัน เพิ่มเป็น 15 วัน
รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังวางแผนเพิ่มปริมาณถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานและระงับกำแพงภาษีเชื้อเพลิงชั่วคราว
มาเลเซีย
รัฐมนตรีคลังมาเลเซียระบุว่า ในปีนี้ มาเลเซียอาจใช้งบ 28,000 ล้านริงกิต (ราว 221,000 ล้านบาท) เพื่ออุดหนุนปิโตรเลียม ซึ่งเป็นงบที่เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า หากราคาน้ำมันยังคงสูงอยู่ โดยมาเลเซียอาจต้องใช้งบเดือนละ 2,500 ล้านริงกิต (ราว 20,000 ล้านบาท) หากราคาน้ำมันอยู่ที่กว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
งบอุดหนุนพลังงานทั้งน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม เมื่อเดือนมกราคมเดือนเดียวอยู่ที่ 2,000 ล้านริงกิต (ราว 16,000 ล้านบาท) โดยเป็นงบที่เพิ่มขึ้นสิบเท่า เมื่อปีที่แล้ว งบอุดหนุนปิโตรเลียมทั้งปีของมาเลเซียอยู่ที่ 11,000 ล้านริงกิต (ราว 87,000 ล้านบาท)
ฝรั่งเศส
เมื่อวันที่ 25 มกราคม ฝรั่งเศสประกาศแผนลดภาษีค่าใช้จ่ายด้านคมนาคมสำหรับผู้สัญจรลงอีก 10 เปอร์เซ็นต์
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง ประกาศว่าจะใช้มาตรการช่วยให้ประชาชนรับมือราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยฝรั่งเศสใช้งบปีละ 20,000 ล้านยูโร (ราว 737,000 ล้านบาท) เพื่อรับมือกับราคาพลังงาน
นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน บริษัทโททาลอเนอร์จีส์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน จะลดราคาน้ำมันลงลิตรละ 10 เซนต์ ตามสถานีบริการน้ำมันในฝรั่งเศส
บราซิล
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วุฒิสภาบราซิลผ่านกฎหมายสองฉบับเพื่อจำกัดราคาเชื้อเพลงที่พุ่งสูง โดยการให้เงินอุดหนุนและการยกเว้นภาษี โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อบริษัทน้ำมันของรัฐ แต่จะลดภาษีที่รัฐบาลเก็บได้เช่นกัน
กฎหมายฉบับแรก กำหนดให้รัฐบาลให้เงินชดเชยบริษัทเชื้อเพลิง หากราคาเชื้อเพลิงในต่างประเทศพุ่งสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นในประเทศ ส่วนกฎหมายฉบับที่สอง เป็นการผ่อนปรนมาตรการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มระดับรัฐของน้ำมันเบนซิน เอทานอล ไบโอดีเซล และก๊าซหุงต้ม
ที่มา: รอยเตอร์