ด้วยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2559 เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนามถอนเงินฝากธนาคารของกองทุน เสนอให้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานของกองทุนฯ และให้ผู้มีอำนาจลงนามถอนเงินในใบถอนเงิน แล้วให้ตนเองเป็นผู้รับเงินแต่เพียงผู้เดียว เชิดเงินหนีไป ทำมาแล้วกว่า 10 ครั้ง สูญเงินไปกว่า 3 แสนบาท อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผกก.4 บก.ปปป.) พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาในกรณีดังกล่าวนี้ เนื่องจากได้รับประสานจากสำนักงาน ป.ป.ท. ว่ามีผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีพฤติการณ์หลบหนี
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปปป. นำโดย พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. ,พ.ต.ท.อำนวย วิชิตโสภณ สว.กก.4 บก.ปปป. พร้อมพวก ลงสืบสวนติดตามจนพบว่า นายวัตร (นามสมมติ) อดีตเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ผู้ต้องหาตามหมายจับ หลบหนีซ่อนตัวอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี มาทำงานที่บริษัทลิสซิ่งแห่งหนึ่ง จากนั้น ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 จึงได้นำชุดจับกุมบุกรวบถึงตัว เข้าแสดงหมาย ยืนยันตัวบุคคลชัดเจนแล้วรับสารภาพว่าเป็นบุคคลตามหมายจริง เคยได้รับหมายเรียกให้พบอัยการแล้ว แต่คิดไปเองว่าคดีคงจบไปแล้ว จึงเลือกที่จะเพิกเฉย จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมในเวลาต่อมา ซึ่งเจ้าตัวทราบดีอยู่แล้วถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังไม่ได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่ อบต. แต่อย่างใด
ด้าน พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. กล่าวว่า นายวัตร (นามสมมติ) ได้นำเงินไปกว่า 3 แสนบาท โดยทำมากว่า 10 ครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเงินกองทุนประกันสุขภาพท้องถิ่นที่ตนเป็นอนุกรรมการและเป็นผู้มีอำนาจลงนามถอนเงินจากบัญชี อบต. อยู่ด้วย โดยอาศัยโอกาสที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่เสนอให้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานของกองทุนฯ และให้ผู้มีอำนาจลงนามถอนเงินหรือร่วมลงนามกับผู้ถูกกล่าวหาในใบถอนเงิน เพื่อถอนเงิน พร้อมทั้งมอบอำนาจให้ตนเอง เป็นผู้รับเงินแต่เพียงผู้เดียว จากนั้น ได้กระทำการเบียดบังเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นไปเป็นของตนโดยทุจริต
ในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพใน ระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ มีไว้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การ ป้องกันโรค การฟื้นฟู สมรรถภาพ และการรักษาพยาบาล ระดับปฐมภูมิ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต โดยการมี กรอบใช้งบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพใช้ได้เฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพและสนับสนุนการรักษาระดับปฐมภูมเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการสงเคราะห์ทุกประเภท การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น เป็นการจัดรายชุมชน หมายความว่าคนทุกๆคน สามารถ มีส่วนร่วมกิจกรรมได้ เช่น คนพิการทุกคน เยาวชนทุกคน สามารถที่จะได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จัดให้เฉพาะบุคคล ใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น การยักยอกเอาเงินในส่วนนี้จึงส่งผลต่อสิทธิที่คนในชุมชนจะได้รับการฟื้นฟูส่งเสริมดูแลด้านสุขภาพ อันเป็นการลดทอนสิทธิที่พึงมีพึงได้ของทุกคนในชุมชนนั้นๆ ด้วย
ซึ่งในการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในภาครัฐ บก.ปปป. ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นความเสียต่อรัฐที่มีจำนวนมาก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเที่ยงตรง ยุติธรรม และความเชื่อมั่นของประชาชน ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ได้จับกุมตัวนำส่งศาลอาญาคดีทุจริคภาครัฐ ภาค 6 พิษณุโลก ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
หากพบมีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการในลักษณะเดียวกันนี้ สามารถแจ้งมายังกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โทร. 02-1919191 สายด่วน ป.ป.ช. 1205 (สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ), สายด่วน ป.ป.ท. 1206 (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และ สายด่วน ป.ป.ง. โทร. 02-2193600 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)