วันที่ 19 ก.พ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานกลางแห่งชาติตำรวจสากลกรุงเทพ(Interpol NCB Bangkok) ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุมเครือข่ายลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายข้ามชาติ ตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวม 119 รายการ รวมทั้งสิ้น 168,781 ชิ้น มูลค่ากว่า 30,000,000 บาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานงานจาก องค์การตำรวจสากล( INTERPOL) ให้ทำการสืบสวนกลุ่มผู้กระทำความผิด กรณีเมื่อประมาณ เดือนตุลาคม 2566 ประเทศสิงคโปร์ได้ตรวจยึดพัสดุไปรษณีย์บรรจุสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งผู้บริโภคในประเทศสิงคโปร์สั่งซื้อทางแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ยี่ห้อ “PLACENTA” เมื่อองค์การตำรวจสากลได้ตรวจสอบการจดทะเบียนของผู้ผลิตและการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปรากฎว่า ไม่พบข้อมูลการการจดทะเบียนของผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่ผู้ขายกล่าวอ้างแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ทำการสืบสวนจนทราบแหล่งที่เก็บผลิตภัณฑ์ และกลุ่มผู้กระทำความผิด ซึ่งจากการตรวจสอบกลุ่มเครือข่ายดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายยาแผนปัจจุบันแต่อย่างใด
ในวันที่ 15 ก.พ.67 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นต่อศาล จ.นนทบุรี เข้าตรวจค้นทั้งหมด 4 จุด ดังนี้
- บ้านพักอาศัย บริเวณ หมู่ 5 ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
- บ้านพักอาศัย บริเวณ ต.บางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
- อาคารโกดังสินค้า บริเวณ ต.บางสีเมือง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
- อาคารโกดังสินค้า บริเวณ ต.วัดชะลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
ผลการตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ยี่ห้อเดียวกันกับที่ประเทศสิงค์โปร์ตรวจพบ ได้แก่ - ผลิตภัณฑ์ยา ยี่ห้อ PLACENTA จำนวน 2500 กล่อง (ฉลากระบุ ผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
- ผลิตภัณฑ์ ยา ยี่ห้อ BIOCELL จำนวน 800 กล่อง (ฉลากระบุ ผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
- ผลิตภัณฑ์ยา ยี่ห้อ COLLAGEN จำนวน 900 กล่อง (ฉลากระบุ ผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง ที่ผิดกฎหมาย ยี่ห้อต่างๆ เพิ่มเติม ดังนี้
ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 108 รายการ เช่น Nabota , Botulax, FILORGA, Glutax 2000 Gs, Glutathione Peptide Lucchini, Neutro Skin vitamin, Glutax 8000000 Gs, Fillmed Laboratorie, Babi Neoone, Daewoong, Neurunox, Aestox ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ จำนวน 6 รายการ เช่น Neuramis Volume, Neuramis Deep, E.P.T.Q. 5500, E.P.T.Q. 5300
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 2 รายการ เช่น AXO Glassskin Booster, AXO Brighthening skin booster
รวมตรวจค้น 4 จุดตรวจยึดของกลางทั้งหมด 119 รายการ รวมทั้งสิ้น 168,781 ชิ้น มูลค่า 30,044,160 บาท โดยเป็นของกลางตามเรื่องร้องเรียน 3 รายการ จำนวน 4,200 ชิ้น, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 108 รายการ, เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 6 รายการ, และเครื่องสำอางที่ไม่ได้มีเลขจดแจ้ง จำนวน 2 รายการ
จากการสืบสวนทราบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของกลุ่มเครือข่าย น.ส.นันตพรฯ (สงวนนามสกุล) มีชื่อเป็นผู้เช่าโกดังเก็บสินค้าดังกล่าว และอยู่ในรายชื่อกลุ่มบุคคลที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายขององค์กรตำรวจสากล โดยกลุ่มผู้กระทำผิดได้ลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นนำมาเก็บซุกซ่อนไว้ในบ้านพักอาศัยของตนเอง และบ้านพักของคนในเครือข่ายบางส่วนเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ โดยสินค้าส่วนใหญ่ จะนำไปเก็บไว้ในโกดัง ที่ปิดมิดชิด อยู่ในที่ห่างไกล เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบพบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดทั้งหมด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย มีวิธีการเก็บรักษาเฉพาะ หากเก็บในสถานที่และอุณภูมิที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้คุณภาพลดลง โดยเครือข่ายดังกล่าว มีการกระจายการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่าน Shopee, Lazada และ LINE SHOPPING ชื่อต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ เช่น Jancy shop, WHITEALLSHOP, TB white shop , N skin shop , JS shop ฯลฯ เมื่อมีคำสั่งซื้อจากลูกค้า กลุ่มผู้ต้องหาก็ทำการแพคสินค้า และจัดส่งพัสดุโดยบริษัทขนส่งเอกชน หรือไปรษณีย์ไทย โดยมีการจำหน่ายไปยังกลุ่มลุกค้าชาวไทย และ กลุ่มลูกค้าต่างชาติในโซนประเทศแถบเอเชีย รวม 4 ประเทศ คือ 1. ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 2. ประเทศมาเลเซีย 3. ประเทศสิงคโปร์ และ 4.ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
จากการสืบสวน พบการใช้บัญชีธนาคารของ กลุ่มเครือข่ายร่วม 10 บัญชี ในการโอนเงินยักย้ายถ่ายเทเงิน เพื่อปกปิดการกระทำความผิด โดยพบว่ามีเงินหมุนเวียนในการขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ปีละกว่า 10,000,000 บาท โดยในวันที่ตรวจค้น น.ส.นันตพรฯ ผู้ต้องหา พร้อมพวก ได้ไหวตัวหลบหนีไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจยึด ของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อทำการออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
เบื้องต้น การกระทำของ ผู้ต้องหากับพวก เป็นความผิดตาม - พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ผลิต ขาย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ผลิต ขาย หรือนําหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ฐาน “ผลิต หรือนำเข้า เครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้อนุญาต” ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท
- พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า การตรวจค้นในครั้งนี้ถือเป็นปฏิบัติการปราบปรามเวชภัณฑ์ สินค้าสุขภาพ เครื่องสำอางที่เป็นเป้าหมายของการปลอมแปลง และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ที่แพร่หลายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ตาม “ภารกิจ PANGEA ครั้งที่ 16” ซึ่งอาศัยความร่วมมือกันระหว่างประเทศจนสามารถหาต้นตอของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและตรวจยึดได้เป็นจำนวนมาก และขอฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ยา และเครื่องสำอาง ที่ใช้เสริมความงาม ควรซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ไม่หลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด โดยก่อนซื้อขอให้ตรวจสอบการได้รับอนุญาตกับเว็บไซต์ อย. ก่อน และขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต น้ำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมและด้อยคุณภาพให้หยุดการกระทำเนื่องจากท่านกำลังทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค