คดีนี้ได้มีการกล่าวหา นาย ส. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำกลางตาก กระทำการทุจริตในภาครัฐ โดยมีพฤติการณ์การกระทำความผิด กล่าวคือ นาย ส. ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตาก ให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการเงินการบัญชี การจัดซื้อสินค้าภายในร้านฯ ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ทำการจัดซื้อสินค้าร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง โดยสั่งซื้อสินค้าเชื่อจากร้านค้า และเบิกเงินค่าสินค้าดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่การเงิน แต่ไม่ได้นำเงินที่เบิกไปชำระค่าสินค้าที่สั่งซื้อสินค้าเชื่อ กลับเบียดบังเอาเงินที่เบิกในแต่ละครั้งไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น รวม 35 ครั้ง เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 418,560 บาท (สี่แสนหนึ่งหมื่นแปดพันห้าร้อยหกสิบบาท)
คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 33/2565 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิดว่า การกระทำของนาย ส. ผู้ถูกกล่าวหา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 162/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท 405/2566 พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 35 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 35 กระทง เป็นจำคุก 70 ปี 210 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงแล้ว คงจำคุกมีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ให้จำเลยชดใช้เงินคืนจำนวน 418,560 บาท แก่เรือนจำจังหวัดตาก กรมราชทัณฑ์ ผู้เสียหาย พิเคราะห์พฤติการณ์แล้วไม่สมควรรอการลงโทษ
พนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ไม่อุทธรณ์
คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 แล้วมีมติเห็นชอบไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ตามความเห็นของพนักงานอัยการ