วันเสาร์, ธันวาคม 7, 2024
หน้าแรกการเมืองเศรษฐกิจไทย “บักโกรก”เมกะโปรเจกต์ “ไม่ขยับสักโครงการ”รัฐบาลเศรษฐา “อืดเป็นเรือเกลือ”

Related Posts

เศรษฐกิจไทย “บักโกรก”เมกะโปรเจกต์ “ไม่ขยับสักโครงการ”รัฐบาลเศรษฐา “อืดเป็นเรือเกลือ”

“…การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 ที่ขยายตัวเพียง 1.7% ยังผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตลอดปี 66ที่ผ่านมาเติบโตได้แค่ 1.9% เท่านั้น ต่ำกว่าที่เคยคาดหมาย 3.2% และ 2.7% คนไทย 27 ล้านคนกำลัง “หืดจับ-หายใจไม่ทั่วท้อง” กระเป๋าฉีกเข้าขั้นวิกฤติ จากผลพวงการหักดิบ “ตรึงอัตราดอกเบี้ย”นโนบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำเอาหนี้เสีย ทั้งบ้าน-รถยนต์พุ่งกระฉูด! นัยว่าเวลานี้หนี้เสียในระบบบานทะโร่ไปกว่า 1.6 ล้านล้านไปแล้ว หากรัฐบาลยังคงมะงุมมะงาหราอยู่เช่นนี้ โครงการเมกะโปรเจ็กต์เต็มหน้าตักที่กองสุมอยู่เบื้องหน้าเหล่านี้ยังไม่ขยับไปไหนได้สักโครงการ ไม่เพียงจะไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดึงการลงทุนกลับมาได้ ตัวรัฐบาลเองนั่นแหล่ะจะถูกสับว่า “เสียของ” และอาจทำให้ไทยต้องสูญเสียศักยภาพการแข่งขัน และสูญเสียการลงทุนไปให้เพื่อนบ้านอย่างถาวร…”

จากดอกเบี้ยแค่“สลึง” ถึง Digital Wallet
ลงทุนเต็มหน้าตัก เหตุใดยังไม่ขยับสักโครงการ!

แถลงการณ์ของเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 ที่ขยายตัวเพียง 1.7% ยังผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตลอดปี 66ที่ผ่านมาเติบโตได้แค่ 1.9% เท่านั้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขา สศช.

ต่ำกว่าที่เคยคาดหมาย 3.2% และ 2.7% จนทำให้เลขา สศช. นายดนุชา พิชยนันท์ ออกโรงกระทุ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ปท.)เร่งจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงโดยด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้าน

สอดคล้องกับผลสำรวจ “ซูเปอร์โพล” ก่อนหน้าที่ระบุว่าคนไทย 27 ล้านคนกำลัง “หืดจับ-หายใจไม่ทั่วท้อง” กระเป๋าฉีกเข้าขั้นวิกฤติ จากผลพวงการหักดิบ “ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโนบาย” ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของนายกฯเศรษฐา ในฐานะ รมว.คลังที่ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับ ธปท.

ทำเอาหนี้เสีย ทั้งบ้าน-รถยนต์พุ่งกระฉูด! นัยว่าเวลานี้หนี้เสียในระบบบานทะโร่ไปกว่า 1.6 ล้านล้านไปแล้ว สมใจอยาก ฯพณฯ ท่านนายกฯ เศรษฐา ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี กันหละงานนี้ จะได้ผลักดันนโยบายแจกเงินหมื่นผ่านโครงการ Digital wallet สมใจอยากกันเสียที!

แต่กระนั้นก็อย่าเพิ่งคาดหวัง ดีใจราวถูกหวยรางวัลที่ 1 เพราะแค่จะผลักดันให้ ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสักสลึง จากที่ติดอยู่บนยอดดอย 2.5%มาตั้งแต่ปลายปีก่อนยังทำไม่ได้ แล้วจะไปคาดหวังอะไรกับการกระเตง พ.ร.บ.(พรก.) เงินกู้ตั้ง 500,000 ล้านที่ต้องผ่าน “ปราการเหล็ก” อีกไม่รู้กี่ชั้น

แถมยังมีรายงาน ป.ป.ช.ที่อ่านกี่รอบกี่เที่ยวก็มีแต่ “ชี้ช่อง- ชี้โพรงให้กระรอก” เปิดทางบรรดา”นักร้อง”ให้เข้ามา “กระตุกเบรก” นโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลได้ทุกเวลา

จะว่าไปหนทางในอันที่จะลด “แรงกดดัน” ที่จะทำให้รัฐบาลลุยไฟนโยบาย Digital Wallet ไปได้พร้อมๆกับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริงตาม “หมายเหตุแนบท้าย” ธปท.นั้นก็มีอยู่ นั่นก็คือการ “ปัดฝุ่น” ลุยโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างขีดเความสามารถในการแข่งขัน สร้าง Competitiveness ให้กับเศรษฐกิจไทย

ซึ่งจะว่าไปแล้วรัฐบาลมีอยู่ “เต็มหน้าตัก” (แต่กลับไม่ขยับไปสักโครงการ) ไล่ดะมาตั้งแต่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย -จีน ที่ เฟส 1 กรุงเทพ-โคราช ระยะทาง 253 กม. ยัง “อืดเป็นเรือเกลือ”เปิดหวูดก่อสร้างกันมากว่า 6 ปีเพิ่งจะมีความคืบหน้าไปได้แค่สัญญาเดียว(จาก 14 สัญญา) หรือคืบหน้าแค่ 20-25% เท่านั้น “เต่ายังเรียกพี่”

ขืนยังปล่อยไปตามยถากรรมแบบนี้ก็ไม่รู้จะต้องหาวเรอรอกันไปถึงไหน และแทบไม่ต้องไปฝันถึงโครงการในเฟส 2 โคราช-หนองคาย ระยะทาง 356 กม.ที่จะไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน ที่เริ่มต้นก่อสร้างมาพร้อมกับประเทศไทยเรา แต่ของเขานั้นเปิดให้บริการกันไปแล้วตั้งแต่ปีปลายก่อน 2565

  1. โครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านที่การรถไฟแห่งประเทสไทย (รฟท.) ให้สัมปทานแก่ บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัดของกลุ่มทุนเจ้าสัวซีพี. ตั้งแต่ปีมะโว้ 2562

แต่ผ่านมาจนวันนี้กว่า4 ปีเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่เริ่มต้นก่อสร้างทำท่าจะเจริญรอยตามโครงการโฮปเวลล์ในอดีตไปอีกโครงการ ต่างฝ่ายต่างก็ตั้งแท่นจะโยนกลองฟัดกันนัวถึงต้นเหตุที่ทำให้โครงการล่าช้า โดยฟากฝั่ง การรถไฟฯ รฟท.ก็อ้างว่าได้ส่งมอบที่ดินในเส้นทางก่อสร้าง 3,500 ไร่ไปเกือบ 100% แล้ว ส่วนที่ดิน 150 ไร่สถานีมักกะสันที่เป็นส่วนสนับสนุนก็ส่งครบ 100%

ขณะที่บริษัทเอกชนก็อ้างว่า ยังไม่ได้รับมอบ เพราะที่ดินที่ส่งมอบยังติดปัญหาลำรางสาธารณะ ต้องให้ รฟท.เคลียร์หน้าเสื่อให้เรียบร้อยเพราะมีผลต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับโครงการ จึงทำให้ รฟท.ไม่สามารถจะออกหนังสือสั่งให้เอกชนเริ่มต้นก่อสร้างได้ รวมทั้งจะตัดสินใจบอกเลิกสัญญาสัมปทานก็ไม่ได้ด้วยเช่นกัน

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

เลยจ่อจะกลายเป็นมหากาพย์ที่ทำเอาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินวนอยู่ในอ่างจนป่านนี้ รฟท.ก็ยังไม่สามารถออกหนังสือ NTP เร่งรัดให้เอกชนเริ่มต้นก่อสร้างได้ ล่าสุดเท่าที่สดัปรับฟังวงการรับเหมาก็ยืนยันว่า “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ยังคงยืนยันความตั้งใจที่จะลุยไฟโครงการนี้ ขอเพียงให้รัฐบาลมีความจริงใจในการสนับสนุนโครงการให้เป็นรูปธรรมเท่านั้น

  1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก 2.9 แสนล้าน อีกโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในมือกระทรวงคมนาคมที่ยังคงรอความชัดเจนด้านนโยบายจากรัฐบาล รวมทั้งความชัดเจนของกระทรวงคมนาคม.ต่อการผลักดันท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 คือ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก

เพราะหากภาครัฐและคมนาคมยังคงหวนกลับไป“ปัดฝุ่น” เดินหน้าขยายศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.)และดอนเมืองเต็มสูบ ตามที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) AOTป่าวประกาศออกมาล่าสุดที่จะเดินหน้าขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออก East Expansion

ทั้งยังมีแผนขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตก West Expansion อาคารผู้โดยสารฝั่งใต้อีกนับแสนล้าน เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคน ขณะที่สนามบินดอนเมือง ก็มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศในเฟส 3 อีกกว่า 36,000 ล้านบาท เพื่อให้รองรับผู้โดยสารไปได้ถึง 50-60 ล้านคน โดยที่นายกฯเศรษฐา(ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี) ยังประกาศนโยบาย Aviation Hub หนุนการลงทุนขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองเต็มหน้าตักเช่นนี้

สิ่งเหล่านี้ ย่อมทำให้เมืองการบินตะวันออก และโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินก็มีสิทธิ์เอวัง จะสร้างไปให้ใครใช่หรือ?

  1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.42 แสนล้านของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่เปิดประมูลกันมาตั้งแต่ปี 63 ผ่านมากว่า 3 ปีก็ยังปิดบัญชีไม่ลง แม้รฟม.จะตั้งแท่นเสนอผลประกวดราคา ที่อ้างว่าบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะประมูลเพื่อให้กระทรวงคมนาคม เสนอผลประกวดราคาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เสียที แต่จนแล้วจนรอดผ่านมากว่า 5 เดือน กระทรวงคมนาคมก็ยังไม่กล้าลุยไฟ

เพราะทุกฝ่ายรู้สาแก่ใจกันดีว่า ที่มาที่ไปการประมูลโครงการนี้โปร่งใสกันแค่ไหน เอาว่าขนาดที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดยังถูกลากลงมา”แปดเปื้อน”ไปกับโครงการนี้ ถึงขนาดที่มีคำวินัยฉัยชี้ขาดออกมาแล้ว ก็ยังไม่มีใครกล้าเอาคอไปพาดเขียงกระเตงโครงการเดินหน้าต่อ ถึงได้ค้างเติ่งคาราคาซังมายังรัฐบาลชุดนี้ได้

ล่าสุดนัยว่า โครงการนี้กำลังทำให้กระทรวงคมนาคม”แตกดังโพล๊ะ”จากความขัดแย้งปัดแข้ง ปัดขากันเอง ระหว่าง นายสุรพงษ์ วิเชียรโชติ รมช.คมนาคมที่กำกับดูแล รฟม.กับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม

เพราะแต่เดิม นายสุรพงษ์ มีนโยบายให้ รฟม.ยกเลิกผลประกวดราคาเพื่อดำเนินการเปิดประมูลใหม่ รวมทั้งมีแผนจะปรับเปลี่ยนบอร์ดรฟม.ยกชุดตามรอยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ แต่ไม่รู้มือมืด Invisible Hand จากไหนสอดมือเข้ามาขวางลำ แถมยังตั้งแท่นจะเสนอผลประกวดราคาอื้อฉาวโครงการนี้ เข้าที่ประชุมครม.เพื่อจะได้เดินหน้าลงนามในสัญญา

จึงทำให้การปรับเปลี่ยนบอร์ดรฟม.และรถไฟฟ้าสายสีส้ม“ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ไม่ขยับไปไหน “จะเดินหน้าต่อ หรือพอแค่นี้” จึงอยู่ที่ นายกฯเศรษฐา (เราจะเป็นเศรษฐี) ที่คงต้องลงมาเคาะโต๊ะด้วยตัวเองแล้ว เพราะจะไปคาดหวังให้ รมต.คมนาคม เป็นผู้ตัดสินใจก็เห็นทีว่าไม่ไหวจะเคลียร์แล้ว ผ่านมากว่า 5 เดือนเข้าไปแล้ว ยังไม่รู้เหนือรู้ใต้ ทั้งที่น่าจะเป็นผู้ที่รู้ตื้นลึกหนาบางโครงการนี้ดีกว่าใคร?

  1. อีกเมกะโปรเจ็กต์ ที่สามารถ Drive เศรษฐกิจให้เติบโตไปได้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนก็คือ การผลักดันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้เดินหน้าเต็มสูบเช่นในอดีตเมื่อปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตจากไวรัสโควิด -19

แต่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมบ้านเรากลับเติบโตสวน เป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลานั้น เพราะมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5 G ใน 3 คลื่นหลักคือ 700 MHz 2600 ,MHz และ 26 GHz ที่ไม่เพียงจะนำเงินเข้ารัฐได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนในโครงขายโทรคมนาคม 5G ตามมาอีกนับแสนล้าน และมีส่วนในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ แทนที่อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม จะเติบใหญ่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็กลับฉุดรั้งให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไร้ทิศเสียเอง

การปรับโครงสร้างองค์กรกำกับดูแล เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการไหลบ่าเข้ามาของ Platform ใหม่ ๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นนานแล้วยังคงไม่มีความคืบหน้า การแสวงหาหนทางในอันที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม และการใช้ประโยชน์จากเทคโลยีสมัยใหม่ ยังคงไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะองค์กรกำกับดูแลคือ กสทช.เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ฟัดกันนัวเนีย ทั้งบอร์ด กสทช.เสียงข้างมากที่ลุกขึ้นมาฟ้องประธาน กสทช. รวมทั้งรองเลขาธิการ กสทช.ที่ลุยฟ้องบอร์ด และบอร์ด กสทช.ลุยปลดรักษาการเลขาธิการ กสทช.

จึงทำให้การขับเคลื่อนนโยบายสื่อสารโทรคมนาคมที่ควรจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ของไทยไร้ทิศไม่เดินหน้าไปทางไหน บรรดาส.ว.ที่เป็นองค์กรที่ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง กสทช.ชุดนี้ยังคงไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบใด ๆ

ส่วนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “แลนด์บริจด์” มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทนั้น ยังเป็นเรื่องไกลตัวที่รัฐจะทุ่มเทลงไปให้การสนับสนุนในเวลานี้ เอาแค่หวนกลับมาผลักดันโครงการที่มีอยู่เต็มหน้าตัก 5 โครงการข้างต้นเหล่านี้ ให้เป็นรูปธรรม

ก็สามารถสร้าง competitiveness ของประเทศไทย เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ หลังจากที่ห่างหายไปนานนับ 10 ปี ทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนที่เป็น FDI อย่างแท้จริง หลังจาก ที่ในระยะหลายปีที่ผ่านมานั้น การลงทุนเริ่มบ่ายหน้าไปยัง เวียดนาม และอินโดนีเซียก่อนไทย

ที่สำคัญยังทำให้แรงกดดันที่มีต่อการดำเนินนโยบาย Digital Wallet ลดลงไปได้ได้

แต่หากรัฐบาลยังคงมะงุมมะงาหราอยู่เช่นนี้ แม้จะล่วงเลยมาถึง 6 เดือนแล้ว โครงการเมกะโปรเจ็กต์เต็มหน้าตักที่กองสุมอยู่เบื้องหน้าเหล่านี้ยังไม่ขยับไปไหนได้สักโครงการ ไม่เพียงจะไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดึงการลงทุนกลับมาได้ ตัวรัฐบาลเองนั่นแหล่ะจะถูกสับ ว่า “เสียของ” และอาจทำให้ไทยต้องสูญเสียศักยภาพการแข่งขัน และสูญเสียการลงทุนไปให้เพื่อนบ้านอย่างถาวร

สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts