วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. มีข้อเสนอแนะกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง DTAC และ TRUE ย้ำ กสทช. กำกับดูแลให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการในอัตราที่เป็นธรรม และส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อย/ผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

Related Posts

กสม. มีข้อเสนอแนะกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง DTAC และ TRUE ย้ำ กสทช. กำกับดูแลให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการในอัตราที่เป็นธรรม และส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อย/ผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพการแข่งขัน เกิดการผูกขาดโดยผู้ขายสองราย และมีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การรวมธุรกิจยังส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคที่น้อยลง อาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลและการกำหนดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงส่งผลให้ผู้ให้บริการธุรกิจที่มีคลื่นความถี่และโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง หรือ ผู้ให้บริการ MNO (Mobile Network Operator) อาจเพิกเฉยต่อการให้บริการในพื้นที่ชนบทหรือภูมิภาคที่มีรายได้น้อยและห่างไกล ไม่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยเฉพาะเครือข่าย 5G เนื่องจากจะมุ่งเน้นทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูงในพื้นที่เมืองและพื้นที่ประชากรหนาแน่นเป็นหลัก ดังนั้น การที่ กสทช. พิจารณาให้รวมธุรกิจระหว่าง DTAC และ TRUE จะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการบริการสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต และผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองต้องเสียค่าบริการสูงขึ้น ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ โดยประชาชนต้องมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ขณะที่ มาตรา 46 มาตรา 56 วรรคสี่ และมาตรา 61 ได้รับรองสิทธิของผู้บริโภค การนำสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดำเนินธุรกิจ รัฐจะต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชน และต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้วย

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กสทช. มีมติรับทราบรายงานการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดยได้กำหนดมาตรการให้ทั้งสองบริษัทปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ซึ่ง TRUE และ DTAC ได้ยื่นจดทะเบียนบริษัทใหม่ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ภายใต้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมีภาคเอกชนหลายแห่งนำกรณีดังกล่าวไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งมีประเด็นแห่งการฟ้องร้องหลายประเด็น เช่น การออกประกาศ กสทช. ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการในการกำกับดูแลการรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจากระบบอนุญาตไปสู่ระบบรายงาน ฯลฯ เป็นผลให้ TRUE และ DTAC สามารถรวมธุรกิจได้เพียงการรายงานให้ กสทช. ทราบ และขอให้ศาลเพิกถอนมติของ กสทช. ที่รับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ด้วย โดย กสม. พิจารณาเห็นว่าการที่ภาคเอกชนที่นำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว ถือเป็นกรณีตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลแล้ว

อย่างไรก็ดี มีมุมมองความเห็นจากนักวิชาการอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิ พยานผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรภาคเอกชน เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าการรวมธุรกิจโทรคมนาคมข้างต้น มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการผูกขาดในตลาด ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และประชาชนทุกคนที่ใช้บริการโทรคมนาคมทั้งในด้านการได้รับบริการที่เท่าเทียม คุณภาพ ราคา หรือสิทธิในความเป็นส่วนตัว อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ที่ไม่สามารถสร้างกำไรได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อห่วงกังวลว่าหากผู้ถูกร้องไม่สามารถกำกับดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจกันดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ได้ อาจทำให้ตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันน้อยลงและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้นแต่คุณภาพเท่าเดิมหรือน้อยลง และไม่มีการขยายพื้นที่ให้บริการไปในพื้นที่ชายขอบหรือท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งจะกระทบทั้งผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ที่ระบุถึงหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยัง กสทช. สรุปได้ดังนี้

(1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ กสทช. รายงานผลการดำเนินการต่อสาธารณชนทุก 6 เดือน จนกว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่เข้ามาเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมจนทำให้ค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI) อยู่ในระดับปกติ ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบต่อผู้บริโภคภายหลังการรวมธุรกิจ และผลการดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนด รวมทั้งผลการดำเนินการของ กสทช. ต่อกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ ไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะดังกล่าวได้

นอกจากนี้ให้จัดทำแนวทาง (Road Map) ส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) หรือมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ เข้ามาในตลาดโทรคมนาคมเพิ่มมากขึ้น ขยายพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ชายขอบหรือถิ่นทุรกันดาร ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิที่จะถูกลืม เป็นต้น และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีกระบวนการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ชัดเจนและเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีที่หน่วยงานของรัฐขอข้อมูลดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้มีการเปิดเผยสถิติการขอข้อมูลของหน่วยงานรัฐให้ประชาชนรับทราบด้วย

(2) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีส่วนในการให้ความเห็นหรือร่วมพิจารณาการรวมธุรกิจโทรคมนาคมที่มีผู้แข่งขันน้อยรายซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ รวมทั้งพิจารณาแก้ไขวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ประกาศ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 จากวิธีเฉลี่ยรวมทุกรายเป็นวิธีการอื่น เพื่อป้องกันการออกรายการส่งเสริมการขายที่เอาเปรียบผู้บริโภคและทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts