“ความตกลง อาร์เซ็ปต์ และข้อริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของจีน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยก็ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ให้เชื่อมต่อกับ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนอย่างไร้รอยต่อ”
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนมณฑลหูหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้าวัสดุก่อสร้าง Central China (Changsha) New Building Materials Investment Promotion & Whole House Customization Expo ครั้งที่ 16 และกล่าวสุนทรพจน์ในงาน RCEP Business Forum (Changsha) ครั้งที่ 1
สำหรับงาน RCEP Business Forum (Changsha) ครั้งที่ 1 นายภัณฑิลฯ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของประเทศ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรี โดยหวังว่าการเจรจาความตกลงจะช่วยเปิดประตูสู่ตลาดใหม่และเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยเนื้อหาของความตกลง RCEP มีความครอบคลุมและเป็นไปในแนวทางที่เป็นมิตรต่อธุรกิจและการค้า นอกจากนี้ เห็นว่าความตกลง RCEP และข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้เชื่อมต่อกับ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนอย่างไร้รอยต่อ
ด้านการลงทุน ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้แนะนำเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลไทยใช้เพื่อส่งเสริมนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ข้อดีของ EEC ไม่เพียงแต่มีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ เช่น การขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศที่เชื่อมต่อไปทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังมีสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี การยกเว้นการนำเงินปันผลมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ การใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ และสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขต EEC เป็นต้น ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนทุกคนให้เข้ามาลงทุนใน EEC ใช้สิทธิประโยชน์ที่ EEC มอบให้ร่วมกับประโยชน์จากความเชื่อมโยงอันเกิดจากความตกลง RCEP และข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
การค้าระหว่างไทยมณฑลหูหนาน ปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 2,523.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยเป็นคู่ค้านำเข้าและส่งออกอันดับ 9 ของมณฑลหูหนาน มูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังหูหนาน(เพิ่มขึ้นร้อยละ 24) มูลค่าการนำเข้าของไทยจากหูหนาน 1,355.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 40.47) สินค้าสำคัญที่ส่งออกจากไทยไปยังหูหนาน ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ยาง 2) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หม้อไอน้ำ เครื่องจักร เครื่องใช้เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน 3) เครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบอื่น ๆ 4) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 5) สินแร่ 6) ทองแดง 7) พลาสติกและส่วนประกอบจากพลาสติก 8) หนังดิบและสกิน (นอกเหนือจาก Fur skins) และหนัง 9) ดีบุกและผลิตภัณฑ์ดีบุก 10) ธัญพืช สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากหูหนาน ได้แก่ 1) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หม้อไอน้ำ เครื่องจักร เครื่องใช้เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน 2) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า3) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอุปกรณ์ 4) เหล็กกล้า 5) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 6) เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนอน 7) พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก 8) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เสื้อผ้าและสิ่งทอมือสอง ผ้าฝอย9) ผลิตภัณฑ์หนัง สินค้าท่องเที่ยว กระเป๋าถือและภาชนะที่คล้ายกัน 10) สินค้าพิเศษที่สามารถซื้อขายได้และสินค้าที่ไม่ได้จัดประเภท