วันนี้ (25 มี.ค. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) ได้บรรยายหลักสูตร “การบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง” (วทน.) รุ่นที่ 1 ที่สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในหัวข้อบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และความท้าทายในการปรับปรุงพัฒนากฎหมายดิจิทัลในยุค Digital Transformation
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทรนด์ของโลกที่ก้าวเข้ายุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) จนเข้มแข็ง ซึ่งโครงสร้างด้านพื้นฐานของดิจิทัลของประเทศไทย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากในการทำธุรกิจออนไลน์ รวมถึงติดต่อสื่อสารต่างๆ
ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านดิจิทัล ได้แก่ โครงการเน็ตประชารัฐ บริการฟรีไวไฟ และพร้อมเพย์ ด้วยศักยภาพและการแพร่กระจายของโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ลงทุนไว้ดังกล่าว ผลักดันให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับโลกด้านดิจิทัลหลายเรื่อง ได้แก่ เป็นที่ 1 ของโลกด้านการใช้โมบายแบงกิ้ง อันดับ 2 ของโลกในการด้านโมบายเปย์เม้นท์ และอันดับ 3 ของโลกด้านอี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น โดยล่าสุด รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนอินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการทำธุรกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งนับเป็นหน่วยงานในระดับกรม เป็นความริเริ่มของรัฐบาลในยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เทรนด์ของ Digital Information และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มช่องทางใหม่ๆ และอำนวยความสะดวกสบายทั้งในเรื่องการทำงาน การค้าขาย และกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ขณะเดียวกัน ก็เปิดช่องว่างความเสี่ยงและความเสียหายจากการใช้งานในทางที่ไม่ถูกต้อง ทั้งในรูปแบบของการฉ้อโกงออนไลน์ ภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การโจรกรรมข้อมูล การโจมตีทางไซเบอร์ และเฟคนิวส์ เป็นต้น
ดังนั้น รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และมีการจัดทำกฎหมายดิจิทัล รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายดิจิทัลและที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและรับมือปัญหาดังกล่าว ซึ่งกฎหมายฉบับสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ Digital Transformation ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
“ด้วยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศไทยที่รัฐบาลจัดสร้างไว้ให้ เช่น เน็ตประชารัฐ ในเรื่อง Free WiFi ที่พยายามทำให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชนบท รวมถึงจุดสำคัญที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทำให้วันนี้การใช้อินเทอร์เน็ตในการทำธุรกิจธุรกรรมออนไลน์เข้มแข็งมากในประเทศไทย รวมทั้งการที่เราสร้างระบบพร้อมเพย์ขึ้นมา ทำให้การทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต และมือถือมีการใช้งานในอัตราสูงมากเมื่อเปรียบกับสัดส่วนประชากรไทย” นายชัยวุฒิกล่าว