นโยบาย 30@30 ที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 จนถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมถึงเริ่มเห็นทิศทางของ EV ในประเทศไทยชัดเจนขึ้น
แนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 เป็นนโยบายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศไทย ภายในปี 2030 เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีนโยบายส่งเสริม ประกอบด้วย
1. ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ
2. ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งมาตรการทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีอัดประจุและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ พัฒนากฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้เหมาะกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
ข้อมูลจาก “finbiz by ttb” ระบุว่า จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2021 ข้อมูลการลงทุนล่าสุดเมื่อปลายปี 2023 จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรม EV จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท ประกอบด้วย
• รถยนต์ EV จำนวน 18 โครงการ มูลค่า 40,004 ล้านบาท
• รถจักรยานยนต์ EV จำนวน 9 โครงการ มูลค่า 848 ล้านบาท
• รถบัส EV และรถบรรทุก EV จำนวน 3 โครงการ มูลค่า 2,200 ล้านบาท
• แบตเตอรี่สำหรับรถ EV และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) จำนวน 39 โครงการ มูลค่า 23,904 ล้านบาท
• ชิ้นส่วนสำคัญ จำนวน 20 โครงการ มูลค่า 6,031 ล้านบาท
• สถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 14 โครงการ มูลค่า 4,205 ล้านบาท