สถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์เดือนมีนาคม 2567 จากการแถลงข่าวของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ไม่สดสวยเท่าไหร่
ภาพรวมวงการรถยนต์ ลดลงทั้งยอดการผลิต ยอดขาย และยอดการส่งออก จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมไปถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่มาก เพราะโรงงานผลิตรถยนต์บางบริษัทยังไม่พร้อม ซึ่งคาดว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 3
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ยอดขายรถยนต์ ปี 2567 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ระบุว่า ปี 2567 ค่ายรถในไทยต่างต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยหลัก 2 ด้าน ซึ่งนำมาสู่การปรับใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อแข่งขันกันมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี ได้แก่
1. ภาวะอ่อนแรงของตลาดรถยนต์ในประเทศ ที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจัยนี้จะกระทบมากที่สุดกับประเภทรถที่ผู้ซื้อหลักมีรายได้ไม่แน่นอน
2. การแข่งขันที่สูงขึ้นมาก จากทั้งจำนวนค่ายรถและรุ่นรถในตลาดที่เข้ามาชิงพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่ายใหม่ๆ จากจีน ที่ปัจจุบันรุกเข้ามาแข่งขันในตลาดรถยนต์นั่งอย่างรวดเร็ว นำโดยรถยนต์ BEV และในอนาคตอันใกล้มีโอกาสขยับมาแข่งขันในตลาดรถกลุ่มอื่นด้วย
ขณะที่กลุ่มค่ายรถใช้น้ำมันที่ยอดขายตกลงมากในปีที่ผ่านมา จะใช้กลยุทธ์การปรับลดราคาลง โดยเป้าหมายคือเพื่อพยุงยอดขายที่ถูกกระทบทั้งจากปัญหาทางเศรษฐกิจและการบุกตลาดของ BEV ด้านกลุ่มค่ายรถ BEV ก็พยายามเร่งชิงส่วนแบ่งการตลาดให้มากขึ้น ด้วยการใช้กลยุทธ์ราคาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลดราคาอาจทำได้เพียงช่วยพยุงตลาดรถไม่ให้หดตัวลงไปมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 750,000 คัน
โดยหากพิจารณาเฉพาะรถยนต์นั่งใช้น้ำมัน อาจหดตัวลึกประมาณ 13% เทียบกับปี 2566 เพราะมีรถยนต์นั่ง BEV ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 63% มาชิงส่วนแบ่งตลาดไป สำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถปิกอัพมีการปรับลดราคาลงไม่มาก ทำให้แรงกระตุ้นตลาดมีน้อยกว่า จึงคาดว่ากลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์อาจยังหดตัวที่ประมาณ 8%
สรุปคือตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังเติบโตได้ แต่รถยนต์สันดาปตกอยู่ในภาวะหดตัว ทำให้ภาพรวมของยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ ลดลงจากปี 2567 ประมาณ 3%