“…สืบเนื่องจาก นายพิชิต ชื่นบาน เคยถูกสภาทนายความถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กรณีพยายามนำถุงขนมใส่เงินสดจำนวน 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของนายทักษิณ ชินวัตร ด้าน วัชระ สุดทน “เศรษฐา” ตั้ง ทนายถุงขนม 2 ล้าน นั่ง รมต.แบบไม่เกรงใจ ปชช. ปรี่ร้องต่อ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวน ส่อว่ากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่…”
29 เมษายน 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า กรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศลงวันที่ 28 เมษายน 2567 แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก นายพิชิต ชื่นบาน เคยถูกสภาทนายความถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กรณีพยายามนำถุงขนมใส่เงินสดจำนวน 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของ นายทักษิณ ชินวัตร และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4599/2551ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า
“…มีเจตนาที่จูงใจให้……และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2550 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา…. จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) , 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ..การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา…. เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ ผู้ถูกกล่าวหา…..ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา… จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป….”
คำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นทำให้เห็นว่า นายพิชิต ชื่นบาน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่อว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หรือไม่ ดังนี้
ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ 12 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อ 13 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติโดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ
ข้อ 17 ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง
ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ … นายวัชระ กล่าวทิ้งท้าย