จากกรณีที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้เห็นชอบแนวทางการจัดให้เอกชนเช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยวิธีคัดเลือก และผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรจะได้รับตลอดอายุสัญญาเช่า 30 ปี โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยมีอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอื่นอีกจำนวนรวม 7 คน เป็นกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจ คือ การตรวจพิจารณาร่างประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมโครงการ ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญา พิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมโครงการ และเจรจาเงื่อนไขในร่างสัญญากับผู้ได้รับการคัดเลือก ฯลฯ
ปรากฏว่า ได้มีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจและมีหนังสือเชิญชวนเอกชนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสาร จากภาคเอกชนที่สนใจในการลงทุน (Market Sounding) รวมทั้งผู้บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกรายจำนวน 5 ราย คือ บ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออิสท์ วอเตอร์ บ.ดับพลิวเอชเอ ยูทีลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บ.วิค จำกัด (มหาชน) และบ.วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
ต่อมา มีการคัดเลือกให้คะแนนตามการเปิดซองการประกวดราคาพบว่า บ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ได้คะแนนสูงสุด แต่คณะกรรมการกลับมีมติยกเลิกการประมูลดังกล่าวและให้ประมูลใหม่ โดยอ้างว่า TOR ที่คณะกรรมการคัดเลือกมีมติรับรองแล้วนั้นไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้กำหนดและพิจารณามีมติรับรองมาแล้วก่อนที่จะให้เอกชนเสนอรายละเอียดเข้าร่วมประมูล
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานกว่า 300 หน้า เพื่อให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน และชี้มูลความผิดอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ กับพวก ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ภายหลังเร่งรีบไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 เป็นเหตุให้รัฐเสียหาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การใช้อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีข้อพิรุธอีกมากมายหลายประการ เช่น เร่งรัดการพิจารณา หรือการแจ้งเอกชนให้เข้าร่วมประมูลอย่างเร่งรีบ โดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อหวังให้งานเสร็จก่อนที่อธิบดีกรมธนารักษ์เกษียณในวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา อันเป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดหลายประการที่ส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ 2560 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ฯลฯ จึงนำความมาร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการเอาผิดอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์กับพวกเสีย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของการใช้อำนาจที่มิชอบ
ในขณะที่ บริษัท อีสท์วอเตอร์ ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยกเลิกการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 และให้ระงับการดำเนินการต่างๆ ตามกระบวนการคัดเลือกฯ พร้อมทั้งขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งยกเลิกการประมูลตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป
นอกจากนี้ อีสท์วอเตอร์ ยังขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ งดเว้นการกระทำใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564
ซึ่ง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 4 ชะลอการอนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำดิบ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน ระบุว่าขอให้รอคำพิพากษาศาลปกครองก่อนเช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน มีมติ 6 ต่อ 4 ให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่ง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่บอกว่าให้รอคำพิพากษาศาลปกครองกลางก่อน
แต่เพียงวันเดียว คือเมื่อวันที่ 12 ก.พ. มีข่าวลือออกมาว่า กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน โดยมี‘กรรมการที่ราชพัสดุ’ 4 ราย เปลี่ยนใจเป็นให้รับรองผลการประมูล ทั้งนี้ หากกระแสข่าวดังกล่าวเป็นความจริง จะส่งผลให้เสียงของกรรมการฯที่รับรองผลการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก เปลี่ยนจาก 4 ต่อ 6 เสียง เป็น 8 ต่อ 3 เสียง จะชนะและยึดการขายน้ำในเขต EEC
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ให้สัมภาษณ์ ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ทราบเรื่องว่า มีกรรมการบางรายเปลี่ยนใจเป็นให้รับรองผลการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก แต่หากมีการเปลี่ยนใจจริงๆ ก็ให้กรรมการท่านนั้นๆทำหนังสือแจ้งมาที่ฝ่ายเลขานุการฯ จากนั้นจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุใหม่ เพื่อลงมติรับรองผลการประมูลต่อไป
“รายงานการประชุมออกไปแล้วเมื่อวาน (11 ก.พ.) ถ้าเขาจะเปลี่ยนใจ จะต้องมีหนังสือแจ้งเรามา ไม่สามารถไปแก้ในรายงานการประชุมได้ เพราะรายงานการประชุมเผยแพร่ไปแล้ว ส่วนกรณีคนที่ลงมติไปแล้ว และมาบอกว่าเปลี่ยนใจ ถามว่าทำได้หรือไม่ ก็ตอบว่าทำได้ โดยต้องแจ้งมาที่ฝ่ายเลขานุการฯว่า ที่ลงมติไปเมื่อวานนั้น ได้ไปคิดไตร่ตรองอีกครั้งหนึ่งแล้ว เห็นว่าต้องการที่จะเปลี่ยนความเห็นเดิม จากเดิมที่ให้ชะลอออกไปก่อน ขอให้เปลี่ยนไปเป็นดำเนินการได้เลย จากนั้นจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการฯครั้งใหม่ เพื่อลงมติกันต่อไป” นายประภาศ กล่าว
เรื่องนี้หลายฝ่ายต่างลุ้นระทึกว่าจะจบอย่างไร เพราะรายงานข่าวกล่าวว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ ‘รมช.คลัง’ จะสั่งนัดประชุม ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ เพื่อชี้ขาดผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำดิบ’ EEC 2.5 หมื่นล้าน อีกครั้งในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ขณะที่ ‘กรมธนารักษ์’ เตรียมข้อมูลชี้แจง ‘ผลดี-ผลเสีย’
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุดังกล่าว จะมีการพิจารณากันอีกครั้งว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญา กรณีโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก นั้น จะต้องชะลอออกไป เพื่อรอให้มีคำพิพากษาของศาลปกครองก่อนหรือไม่ หากที่ประชุมยืนยันว่าให้รอ ก็เป็นอันยุติไป แต่หากที่ประชุมบอกว่าไม่ต้องรอ ก็จะพิจารณาในประเด็นต่างๆต่อไป
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า “หากที่ประชุมยืนยันว่าให้รอ ก็เป็นอันยุติไป แต่หากที่ประชุมบอกว่าไม่ต้องรอ ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมอีกว่า จะพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบผลการคัดเลือก”
[…] การเมือง […]