เมื่อผลการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ครั้งที่สอง ซึ่งเปิดให้เอกชนยื่นซองเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ปรากฏผลว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เป็นเงินจำนวน 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รองลงมา คือ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ซึ่งเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
ผลประโยชน์ตอบแทนฯ ที่ วงษ์สยามก่อสร้าง เสนอเข้ารัฐ สูงกว่า อีสท์วอเตอร์ เป็นเงินประมาณ 1,480 ล้านบาท และชนะประมูลไปในที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ที่มี การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 40.20% ต้องลดบทบาทในการบริหาร ‘ท่อส่งน้ำดิบ’ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังได้รับสิทธิ์ ‘เช่าท่อ’ จาก ‘กรมธนารักษ์’ มาตั้งแต่ปี 2537
บริษัท ‘อีสท์วอเตอร์’ (East Water) หรือ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ถือกำเนิดมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในปี 2535 ให้ กปภ. จัดตั้ง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก เพื่อเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
เรื่องนี้นับเป็นเรื่องใหญ่ที่บริษัทโครงสร้างพื้นฐานระดับบิ๊กอย่าง ‘อีสท์วอเตอร์’ ( EASTW) ซึ่งมีท่อส่งน้ำหลักในพื้นที่ภาคตะวันออก อยู่ในมือรวมปัจจุบันความยาว 491.8 กิโลเมตร โดยเป็นการเช่าท่อจากกรมธนารักษ์ 135.9 กิโลเมตร และลงทุนก่อสร้างเอง 355.9 กิโลเมตร ต้องประสบความปราชัย จากการเข้าร่วมประมูล
แต่สิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ “บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด” ที่ไม่มีท่อน้ำอยู่ในมือสามารถชนะประมูลได้ จึงถูกตั้งคำถามว่า เมื่อชนะการประมูล จะทำให้ได้ท่อส่งน้ำจากกรมธนารักษ์จำนวน 135.9 กิโลเมตรไปบริหาร ท่ามกลางคำถามว่าจะหาแหล่งน้ำจากไหน และเพียงพอหรือไม่ ในเมื่อท่อหลักในการส่งน้ำอีกกว่า 355.9 กิโลเมตรอยู่ในมือของ‘อีสท์วอเตอร์’ (EASTW) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนเอง
และสิ่งที่ต้องตามต่อด้วยนั้นก็คือเรื่องต้นทุนที่สูงจะทำให้การขายน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ อีอีซี จะมีราคาสูงกระทบต้นทุนผู้ประกอบการในพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่นี้ไปด้วยหรือไม่?
และหากย้อนรอยเรื่องการประมูลก็จะพบพิรุธหลายอย่าง ดังที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานกว่า 300 หน้า เพื่อให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน และชี้มูลความผิดอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ กับพวก ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ภายหลังเร่งรีบไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 เป็นเหตุให้รัฐเสียหาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การใช้อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีข้อพิรุธอีกมากมายหลายประการ เช่น เร่งรัดการพิจารณา หรือการแจ้งเอกชนให้เข้าร่วมประมูลอย่างเร่งรีบ โดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อหวังให้งานเสร็จก่อนที่อธิบดีกรมธนารักษ์เกษียณในวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา อันเป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดหลายประการที่ส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ 2560 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ฯลฯ จึงนำความมาร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการเอาผิดอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์กับพวกเสีย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของการใช้อำนาจที่มิชอบ
ทีมข่าวเจาะลึกถึงประเด็นนี้ปรากฏว่า มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นจริง เริ่มตั้งแต่การที่กรมธนารักษ์ประกาศรวบรวมท่อส่งน้ำเพื่อใช้ในการประมูลใหม่ ด้วยเกณฑ์การคัดเลือก แทนที่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน มาตรา 8 และ มาตรา 22 ที่จะต้องมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส
เหตุจากเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ (ในขณะนั้น) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุม 801 อาคารกรมธนารักษ์ แต่ไม่สำเร็จหลังวงแตก เหตุ กก.บางท่านขอลาออก
รายงานข่าวกล่าวว่า กรรมการบางท่านหวั่นว่าถ้าเร่งรีบเกินไปอาจจะทำให้ถูกฟ้องร้อง วันนั้นการประชุมล่ม เหตุ กก.คัดเลือกบางรายขอลาออก หลังพยายามค้านเรื่องการเปลี่ยนมือเจ้าของสัมปทาน หวั่นกระทบภาคอุตสาหกรรมแต่ไร้ผล
28 ก.ย.64 นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์มีการนัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือกอีกครั้ง และจะประกาศผลบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ทันทีในวันที่ 30 ก.ย.64 ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการเร่งรีบดำเนินการเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้ถูกบริษัทที่ไม่ได้รับการคัดเลือกนั้นยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ เพราะนายยุทธนา หยิมการุณ จะเกษียณอายุราชการทันที
ขณะที่การคัดเลือกเอกชนนั้นก็มีการคัดเลือกถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม-26 สิงหาคม 2564 มีกติกาในด้านทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และมีผลงานบริหารจัดการน้ำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจากการเปิดซองบริษัท ‘อีสท์วอเตอร์’ (East Water) ชนะเป็นที่ 1 ขณะที่ “วงษ์สยามก่อสร้าง” เป็นที่ 2 อย่างไรก็ดี ทางคณะกรรมการคัดเลือกก็ประกาศยกเลิกการคัดเลือกด้วยเหตุผลว่า TOR ไม่ชัดเจน รวมระยะเวลาคัดเลือก 42 วัน โดยในช่วงการพิจารณาข้อเสนอนานถึง 15 วัน ก่อนสรุปผลคัดเลือก 2 วัน
และถูกปรับใหม่เป็นครั้งที่ 2 ปรับกติกาเป็น บริษัทที่มีคุณสมบัติถูกคัดเลือก จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ไม่มีระบุระยะเวลาผลงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และใช้เวลาเพียง 20 วันเท่านั้น ในการคัดเลือกผู้ชนะ จากวันที่ 10 กันยายน-30 กันยายน 2564 รวม 20 วัน ซึ่งรวดเร็วมาก แบ่งเป็นการประกาศเชิญชวน 18 วัน การพิจารณาข้อเสนอ 1 วัน และ สรุปผลการคัดเลือก 1 วัน ขณะเดียวกัน คณะกรรมการคัดเลือกหลายรายก็เกษียณวันที่ 30 กันยายน นั่นคือพอจบเรื่องนี้ ก็หมดหน้าที่ และเกษียณไปเลย จึงถูกมองว่า “ทำงานเพื่อทิ้งทวน” ใช่มั้ย?
อย่างไรก็ตามบริษัท ‘อีสท์วอเตอร์’ (East Water) ได้ร้องเรียนขอให้ระงับยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว และส่งเรื่องฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกกับศาลปกครองกลางซึ่งรับคดีไว้พิจารณาแต่ไม่ได้สั่งคุ้มครอง
กระทั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติ 6 ต่อ 4 ชะลอการพิจารณาอนุมัติคัดเลือกเอกชน เพื่อรอคำตัดสินของศาลปกครองกลางออกมาก่อน
วันที่ 11 ก.พ. นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ คนใหม่ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน มีมติ 6 ต่อ 4 ให้ชะลอการพิจารณาไปก่อน
แต่วันที่ 12 ก.พ.เกิดข่าวลือว่า กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย จะกลับลำรับรองผลประมูล ‘เปลี่ยนใจเป็นให้รับรองผลการประมูล ไม่รอคำสั่งศาลปกครองกลาง จะส่งผลให้เสียงของกรรมการฯที่รับรองผลการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก เปลี่ยนจาก 4 ต่อ 6 เสียง เป็น 8 ต่อ 3 เสียง โดยรวมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วยอีก 1 คน จะชนะและยึดการขายน้ำในเขต EEC
อย่างไรก็ตาม วันที่ 14 มี.ค.ที่จะถึงนี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ‘รมช.คลัง’ จะสั่งนัดประชุม ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ เพื่อชี้ขาดผลการประมูล พิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการผลการคัดเลือกว่าจะต้องชะลอออกไป เพื่อรอให้มีคำพิพากษาของศาลปกครองก่อนหรือไม่ หากที่ประชุมยืนยันว่าให้รอ ก็เป็นอันยุติไป แต่หากที่ประชุมบอกว่าไม่ต้องรอ ก็จะพิจารณาในประเด็นต่างๆต่อไป
สำหรับคนในพื้นที่ EEC คงทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่รู้หนาว ไม่ได้แล้ว..เพราะอนาคตค่าน้ำจะถูก หรือจะแพง..ท่านจะต้องจ่าย!!!
แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “จะตัดสินปัญหานี้อย่างไร?”
จะลอยตัวเหนือปัญหาอีกหรือ?
[…] All การเมืองภาคประชาชน ท้องถิ่น การเมือง […]