ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์ (BRICS)
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ความน่าสนใจของกลุ่มประเทศ BRICS คือ การมีสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลในแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล
ขณะเดียวกัน เมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก
หากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์ มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก
ที่สำคัญ คือ ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44% อีกด้วย
BRICS เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทาง เศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วยประเทศ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และ จีน (China) และ South Africa ปัจจุบันมีประเทศใหม่ๆสมัครเข้าเป็นสมาชิกจำนวนมาก
การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่