วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกการเมืองชงนายกฯ นำความกราบบังคมทูลให้ประธาน กสทช.พ้นจากตำแหน่ง

Related Posts

ชงนายกฯ นำความกราบบังคมทูลให้ประธาน กสทช.พ้นจากตำแหน่ง

“…นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เมื่อได้รับเลือกและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว ก่อนหรือภายหลังที่นายกรัฐมนตรีจะน าความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น มิได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด และยังทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ตลอดมา จนกระทั่งถึงปี 2567 และยังมีสถานะเป็น “แพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง” ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 โดยมิได้ลาออกหรือเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพดังกล่าว คณะกรรมาธิการ เห็นว่า  เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 26 กรรมาธิการจึงขอเสนอความเห็นเพื่อประธานได้โปรดพิจารณาวินิจฉัย เพื่อนำกราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง โดยหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายต่อไป…”

ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.

เปิดรายงาน กมธ.ไอซีที

ชงนายกฯ นำความกราบบังคมทูลให้ประธาน กสทช.พ้นจากตำแหน่ง

ผลสอบชัดรับจ๊อบรักษาคนไข้-ยังคงเป็นกรรมการแบงก์แม้เป็น กสทช.

รายงานของคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา (กมธ.ไอซีที) กรณีการตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.คลินิกนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)

ตามที่ประธานวุฒิสภาเห็นชอบให้ กมธ.ไอซีที พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ กรณี ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ มหเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช.มีหนังสือร้องเรียน ให้วุฒิสภาตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการและประธาน กสทช.หรือไม่ ทาง กมธ.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็น ดังนี้

ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ มหเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช

1.กมธ.มีอำนาจและหน้าที่ที่จะรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้ดำเนินการตรวจสอบ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การสื่อสารสาธารณะ การโทรคมนาคมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร

2.การที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ ยังคงทำหน้าที่แพทย์ตรวจรักษาคนไข้ที่ รพ.รามาธิบดี ทำให้มีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ทำให้มีลักษณะต้องห้ามการเป็น กสทช. ตามบทบัญญัติมาตรา 8 แห่งพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งบัญญัติว่า

(2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ

(3) ไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ

“ จากข้อเท็จจริงที่กรรมาธิการฯได้ตรวจสอบ ประกอบกับหนังสือตอบยืนยันข้อเท็จจริงการสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลดังกล่าว จึงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณฯ ยังทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย โดยมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและเป็นแพทย์ที่รับค่าตอบแทนรายชั่วโมงอันมีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วย การบริหารงานบุคคล ลูกจ้าง เงินรายได้ พ.ศ. 2561 อันมีผลทำให้ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณฯ เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายตามมาตรา 8 (๒2 และ(3) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553”

3. การที่ ศ.คลินิกนพ.สรณ ยินยอมให้เสนอชื่อเพื่อขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพ และยินยอมให้เสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของธนาคารเพื่อให้ผู้ถือหุ้น เลือกเป็นกรรมการนั้น มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 18 ของพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมทั้งต้องเลิกประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพอื่น จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 18 แห่ง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมทั้งต้องเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ขัดแย้ง

ทั้งนี้ การเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ ของ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณฯ มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ความเห็นชอบให้เป็นกรรมการธนาคารแล้ว ตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 การที่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณฯ มิได้ลาออกจากการเป็นกรรมการอิสระของธนาคารจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และยังได้มีความพยายามที่จะขอดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ กสทช. และกรรมการอิสระของธนาคาร ไปพร้อมกันทั้งสองตำแหน่ง ดังปรากฏตามรายงานการประชุมกรรมการ กสทช. ครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่พุธที่ 27 เม.ย.2565  ที่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณฯ ในฐานะประธาน กสทช. ได้เสนอให้ที่ประชุมมีมติรับทราบ และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือหารือไปยังส านักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายกรณีที่ประธาน กสทช. จะรับตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระของธนาคารกรุงเทพ ด้วยได้หรือไม่นั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่ต้องการให้กรรมการ กสทช. ต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ตามมาตรา 26 และต้องไม่มีหน้าที่อื่นใด หรือไปทำงานอิสระอื่นใดอีก และนอกจากนี้ยังเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมทั้งต้องเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ อิสระอื่น หลังจากได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. อีกด้วย

4. ข้อเท็จจริงที่ค้นพบเพิ่มเติมจากการสอบหาข้อเท็จจริงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรรมาธิการฯ ยังได้พบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกว่า ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นประธาน กสทช. ตามบทบัญญัติของมาตรา 7 ข (12) ประกอบกับ มาตรา 8 (2) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งบัญญัติไว้ว่ากรรมการต้องมีคุณสมบัติและต้อง ไม่มีลักษณะต้องห้าม

5. ความเห็นและผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ  คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอนุกรรมาธิการ คณะที่ 3 ที่เสนอต่อกรรมาธิการฯ แล้ว มีความเห็นและข้อสรุปตามผลการพิจารณา ดังนี้

5.1 การที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ยังมีสถานะ “เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย” ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2564จนถึง วันที่ 12 เมษายน 2565 และยัง “ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตลอดมาจนกระทั่งถึงปี 2567” และยังมีสถานะเป็น “แพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง” ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2565 โดยมิได้ลาออกหรือเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพดังกล่าว จึงทำให้ นพ.สรณ ฯ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) และ (3) ด้วยเหตุยังมีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ และประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่น ที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับการปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ 

ที่นายกรัฐมนตรีจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง จึงมีผลทำให้การกระทำของ นพ.สรณ “เป็นผู้สละสิทธิ” ตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ. 2553 ย่อมมีผลให้กรรมการสรรหาจะต้องดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็น กสทช. ใหม่แทน นพ.สรณฯ ตามกฎหมายต่อไป การกระทำของ นพ.สรณฯ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8 ดังกล่าว ยังมีผลทำให้ นพ.สรณฯ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 20 (5) อีกด้วย

5.2 กรณี ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ยินยอมให้เสนอชื่อตนเองต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของธนาคารกรุงเทพ  เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเลือกและยอมรับการเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า บุคคลผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็น กสทช. แล้ว บุคคลนั้นต้องลาออกจากการปฎิบัติหน้าที่อื่นในทุกตำแหน่ง โดยต้องลาออกหรือเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใด ภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามมาตรา 18 และ มาตรา 26 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553  

การที่ นพ.สรณฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาฯ ให้เป็นกรรมการ กสทช.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 และทราบดีว่า ตนต้องลาออกจากทุกตำแหน่งหรือต้องไม่มีตำแหน่งหน้าที่อื่นใดอีกเลย เพื่อการเข้ารับหน้าที่เป็น กสทช. แต่กลับยินยอมรับเป็นกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ  โดยกรอกประวัติในแบบฟอร์มการเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการบริษัท ธนาคารกรุงเทพฯ ว่าเป็นประธานกรรมการ กสทช. ด้วย นอกจากรายละเอียดอื่นในประวัติ เพื่อเสนอต่อผู้ถือหุ้นในที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 12 เมษายน 2565และที่ประชุมใหญ่ สามัญประจำปีของบริษัท ฯ โดยผู้ถือหุ้นก็ได้ลงมติให้ความเห็นชอบเลือก นพ.สรณฯ ให้เป็นกรรมการ ธนาคาร ก่อนวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเพียง 1 วัน(๑๓ เมษายน 2565 )

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวในกรณีนี้ คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เมื่อได้รับเลือกและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว ก่อนหรือภายหลังที่นายกรัฐมนตรีจะน าความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น มิได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 8 และมาตรา 18 ประกอบมาตรา 20

6.ข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามความเห็นและข้อพิจารณาที่ คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปและกราบเรียนเสนอต่อประธานวุฒิสภา ข้างต้น คณะกรรมาธิการ เห็นว่า ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 26 กรรมาธิการจึงขอเสนอความเห็นเพื่อประธานได้โปรดพิจารณาวินิจฉัย เพื่อนำกราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง โดยหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts