วันนี้ (31 พฤษภาคม 2567) เวลา 09.40 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ
พร้อมด้วยคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง
ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
การฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX)
ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 ซึ่ง เป็นการฝึกปฏิบัติการจริงของหน่วยกำลังรบประเภทต่าง ๆ
เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการและทดสอบความพร้อมทั้งด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดในการจัดฝึกที่ว่า “ฝึกฝนให้ชำนาญ เพื่อพร้อมปกป้องอธิปไตยให้น่านน้ำไทย”
สำหรับการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง จะทำการเข้าตี ยึดครอง รักษาที่หมายและสถาปนาเส้นแนวหัวหาดพร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าตีด้วยการยิงอาวุธสนับสนุน ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.)
และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) รวมถึงร้องขอการโจมตีเป้าหมาย High Value Targets จากกองทัพอากาศ ซึ่งได้จำลองสถานการณ์และพื้นที่การฝึก มาที่สนามฝึก กองทัพเรือหมายเลข 16 โดยมีกำลังพลเข้ารับการฝึกทั้งสิ้น 594 นาย และมีอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการฝึก ประกอบด้วย ยานรบสะเทินน้ำสะเทินบกAAV 6 คัน ยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก VN16 3 คัน ยานเกราะล้อยาง BTR -3E1 5 คัน รถยนต์บรรทุกฮัมวี่ 4 คัน ปืนใหญ่สนามขนาด 155 มม. จาก นย.และ สอ.รฝ. หน่วยละ 2 กระบอก พร้อมด้วยระบบตรวจการณ์ ARTHUR MOD C และ BOR – A560 ปืนใหญ่สนามขนาด 105 มม. 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด
40/60 มม. 2 กระบอก อาวุธยิงสนับสนุนภายในอัตรากองพันทหารราบ ชุดแทรกซึมทางอากาศจากกองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธิน อากาศยานไร้คนขับแบบM SOLAR-X 1 ระบบ อากาศยานที่ร่วมการฝึก ประกอบด้วยเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลดอร์เนียร์ ในการส่งชุดแทรกซึมทางอากาศ เครื่องบินตรวจการณ์
ชี้เป้าแบบ T-337 ในการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด Close Air Support (CAS ) และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ EC-645 ในการส่งกลับสายแพทย์ และได้รับการสนับสนุนกำลังจากกองทัพบกและกองทัพอากาศ ประกอบด้วย รถถังหลักแบบ T-84 (OPLOT ) ในการดำเนินกลยุทธ์เข้าตีและยึดครองที่หมาย เครื่องบิน
ขับไล่ F-16 ในการขัดขวางกำลังเพิ่มเติมของฝ่ายตรงข้ามชุดควบคุมอากาศยานโจมตี Combat Control Team แนะนำการติดต่ออากาศยานเข้าพื้นที่การรบ
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกในครั้งนี้ นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้นจากการฝึกแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังพลที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับเหล่าทัพอื่น เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ